ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในอินเดีย ระหว่างปี ค.ศ. 2021 – 2022 อินเดียผลิตรถยนต์ทุกชนิดรวมกัน 22.93 ล้านคัน อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มูลค่ารวม 222 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 7.1 ของ GDP ของอินเดีย และคิดเป็นร้อยละ 49 ของ Manufacturing GDP ของอินเดีย อุตสาหกรรมยานยนต์อินเดียมีการจ้างงานกว่า 37 ล้านคน และมีสัดส่วนร้อยละ 4.7 ของการส่งออกของอินเดีย ปริมาณการส่งออกรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ของอินเดียมีอัตราการเจริญเติบโตถึงร้อยละ 35 จาก 4,134,049 คันในปี ค.ศ. 2021 เป็น 5,617,246 คัน ในช่วงปี ค.ศ. 2021 – 2022 มีมูลค่าการส่งออกรวม 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีตลาดส่งออกยานยนต์ที่สําคัญคือ สหรัฐฯ (3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เม็กซิโก (1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) แอฟริกาใต้ (1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตลาดส่งออกที่สําคัญอื่น ๆ เช่น ไทย บังคลาเทศ เยอรมนี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ยานยนต์ไฟฟ้าในอินเดียมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของอินเดียมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ นโยบายของรัฐบาลอินเดียในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ทั้งในรูปของการยกเว้นภาษี การให้การอุดหนุน ในรูปแบบต่าง ๆ แก่ผู้ผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และแบตเตอรี่ ผ่านนโยบาย Production Linked Incentive (PLI) และ Faster Adoption and Manufacturing of Hybrid and Electric vehicles (FAME) การสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่ายานยนต์ไฟฟ้าในอินเดียจะสามารถขายได้ถึง 10 ล้านคัน และสร้างงานได้ถึง 50 ล้านตําแหน่งภายในปี ค.ศ. 2030
การที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้นในอนาคต อาจเป็นโอกาสที่นักธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ในการพิจารณาศึกษาลู่ทางในการเข้ามาลงทุนในสาขานี้ในอินเดีย โดยอาศัยความรู้ ประสบการณ์ และมาตรฐานการควบคุมคุณภาพที่ดีเป็นข้อได้เปรียบที่สําคัญ ทั้งนี้ ในปี ค.ศ. 2022 อินเดียบริโภคยางพาราทั้งสิ้น 1,238,000 ตัน แต่สามารถผลิตได้ใน ประเทศเพียง 775,000 ตัน ต้องนําเข้ายางพาราส่วนที่เหลือจากต่างประเทศ โดยอินเดียนําเข้ายางพาราส่วนใหญ่จากอินโดนีเซีย เวียดนามและไทยตามลําดับ ดังนั้น ยางพาราจึงน่าจะเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่ไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกมายังอินเดียได้มากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องของไทยอาจต้องร่วมมือกับประเทศผู้ส่งออกรายสําคัญคือ อินโดนีเซีย เวียดนาม หารือกับองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับยางของอินเดีย เช่น The All India Rubber Industries Association (AIRIA) เพื่อเจรจาให้รัฐบาลอินเดียพิจารณาลดอัตราภาษีนําเข้าสําหรับยางพาราลงจากอัตราร้อยละ 25
นอกเหนือจากการค้าสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์โดยตรง เช่น ยางยานยนต์แล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการคมนาคมขนส่งเป็นอีกสาขาหนึ่งที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากรัฐบาลอินเดียได้ปรับปรุงเส้นทางการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะ highway และ expressway เป็นจํานวนมาก แต่สิ่งอํานวยความสะดวกระหว่างเส้นทาง เช่น สถานีบริการน้ํามัน ร้านอาหาร หรืออู่ซ่อมรถ ยังมีไม่มากและไม่ได้มาตรฐาน บริษัทของไทยสามารถใช้ความชํานาญและประสบการณ์ในการบริหารจัดการในด้านนี้อาจเข้ามาแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทอินเดียในการพัฒนาสิ่งอํานวยความสะดวกบนเส้นทางเหล่านี้ต่อไป
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์