เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2567 อินเดียและ European Free Trade Association (EFTA) ได้บรรลุ ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าและเศรษฐกิจ (Trade and Economic Partnership Agreement: TEPA) ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และลิกเตนสไตน์ โดยผู้แทนทั้ง แต่ละประเทศและอินเดียได้ลงนามร่วมกันที่กรุงนิวเดลี ซึ่งมีสาระสำคัญความตกลงดังกล่าวตามที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ ของอินเดีย ดังนี้
สาระสำคัญของ TEPA ทั้งหมดมี 14 ข้อบท ได้แก่ การค้าสินค้า ถิ่นกำเนิดสินค้า สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การค้าบริการ การส่งเสริมและร่วมมือด้านการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การขจัดอุปสรรค ทางการค้าและการอำนวยความสะดวกทางการค้า สรุปได้ดังนี้
- EFTA ยกเว้นภาษีภาษีนำเข้าให้แก่อินเดียเป็นสัดส่วนร้อยละ 92.2 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน (tariff lines) ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 99.6 ของการส่งออกของอินเดีย และอินเดียสามารถเข้าถึงตลาด EFTA ครอบคลุมร้อยละ 100 ของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่สินค้าเกษตร และยกเว้นภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป
- อินเดียยกเว้นภาษีนำเข้าให้แก่ EFTA เป็นสัดส่วนร้อยละ 82.7 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 95.3 ของการส่งออกของ EFTA เช่น อาหารทะเล ผลไม้ท้องถิ่น กาแฟ น้ำมันสำหรับประกอบอาหาร และไวน์ ทั้งนี้ รวมถึงสินค้าภาคอุตสาหกรรมบางรายการและสินค้าที่อยู่ในโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต (Production-Linked Incentive Scheme: PLI) ของอินเดีย เช่น ยา อุปกรณ์ทาง การแพทย์ อาหารแปรรูป ซึ่งอยู่ในข้อเสนอการยกเว้นภาษีเช่นเดียวกัน
- สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ทั้งสองฝ่ายไม่จัดให้อยู่ในรายการยกเว้นภาษีนำเข้า ได้แก่ ทองคำ ผลิตภัณฑ์นม ถั่วเหลือง ถ่านหิน และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบางประเภท
- อินเดียเปิดตลาดบริการ เช่น บัญชี บริการธุรกิจ บริการทางกฎหมาย การวิจัยและการพัฒนาคอมพิวเตอร์ สาธารณสุข เป็นต้น ในขณะที่ TEPA จะกระตุ้นการลงทุนภาคบริการของอินเดียในสาขาที่ อินเดียมีจุดแข็ง เช่น บริการด้าน IT ธุรกิจ วัฒนธรรม กีฬาและสันทนาการ และการศึกษา โดยใช้ EFTA เป็นฐานเข้าสู่ตลาดของ EU ตเช่น ภาคบริการของสวิตฯ กว่าร้อยละ 40 สามารถเข้าสู่ตลาด EU ดังนั้น สวิตฯ จะเป็ ฐานธุรกิจสำคัญของอินเดียในภาคบริการในสาขาข้างต้นเพื่อทำรายได้จากตลาดของ EU ต่อไป
อินเดียถือว่าการบรรลุความตกลง TEPA ซึ่งเป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) นี้เป็นเหตุการณ์ สำคัญที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ (watershed moment) ซึ่งเป็นการทำ FTA ที่ครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน อีกทั้งคาดหวังว่า TEPA จะสร้างเม็ดเงินลงทุนในอินเดียได้มากกว่า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งภายใน 15 ปี ในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง โรงงานผลิตเครื่องจักร ยาและเวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ อาหารแปรรูป การคมนาคมและโลจิสติกส์ การธนาคารและภาคการเงิน รวมถึงธุรกิจประกันภัย ซึ่งประเทศสมาชิก EFTA มีความเป็นเลิศและจะตอบสนองต่อนโยบาย Make in India ของนายกรัฐมนตรีโมที โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนจากสวิตฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ลงทุนอันดับ 12 ในอินเดีย ด้วยมูลค่า 10 พันล้นดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งเชิญชวนสวิตฯ ลงทุนในระบบขนส่งและรถไฟ
TEPA จะเป็นกลไกให้ผู้ส่งออกของอินเดียสามารถเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น อาศัยปัจจัยจาก EFTA มีการทำ FTA กับประเทศต่างๆ 29 ฉบับ รวม 40 ประเทศที่สำคัญเช่น จีน แคนาดา เกาหลีใต้ ชิลี เม็กซิโก และจากการใช้สวิตฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งในกลุ่มเป็นฐาน ยิ่งไปกว่านั้น อินเดียจะมีทางเลือกสามารถกระจายการนำเข้าสินค้าที่เคยพึ่งพิงจากจีนสำหรับเป็นวัตถุดิบและต้นน้ำในการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะด้านเครื่องจักร ยา และเครื่องมือแพทย์
อนึ่ง การเจรจา TEPA ระหว่างอินเดียและ EFTA เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2551 และยุติการเจรจาชั่วคราวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ก่อนจะกลับมาสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา รวมการเจรจากว่า 21 รอบ จึงได้ข้อสรุปและใช้เวลาทั้งสิ้น 16 ปี ในขณะนี้อินเดียเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของ EFTA ในปี พ.ศ. 2564 – 2565 การค้าระหว่างอินเดียกับ EFTA มีมูลค่าประมาณ 18.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงจากปี พ.ศ. 2564 – 2565 ไปประมาณ 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ) โดยอินเดียเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าประมาณ 14.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่พาณิชย์อินเดียคาดการณ์ว่า ภายใต้ TEPA มูลค่าการค้าจะเพิ่มเป็น 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 และคาดหวังว่า TEPA จะทำให้การขาดดุลการค้าของอินเดียลดลง เพราะแม้สินค้าจาก EFTA จะสามารถเข้ามายังตลาดขนาดใหญ่ของอินเดียได้มากขึ้นจากการยกเว้นภาษี แต่อินเดียมีหลักประกันการลงทุนจาก EFTA ซึ่งจะช่วยให้เกิดกิจกรรมทา เศรษฐกิจและการสร้างงานจำนวนมาก
การบรรลุความตกลงนี้สร้างผลบวกและความนิยมต่อสถานะของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีโมทีที่จะช่วยเปิดตลาดสินค้าและบริการของอินเดียและโอกาสการเพิ่มการลงทุนในประเทศ รวมทั้งยกระดับภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอินเดียในระบอบการค้าเสรีของโลก โดยนายกรัฐมนตรีโมที ได้กล่าวว่า การลงนามความตกลงฉบับนี้เป็นสัญลักษณ์ถึงท่าทีของอินเดียในการมีส่วนร่วมต่อระบบการค้าที่เท่าเทียมและเสรี รวมทั้งสนับสนุนการจ้างงานของคนรุ่นใหม่ของอินเดีย และนำมาซึ่งโอกาสความร่วมมือในด้านนวัตกรรมและ R&D ในสาขาต่าง ๆ เช่น การค้าดิจิตัล การบริการทางการเงินและธนาคาร และเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นด้านที่ประเทศสมาชิก EFTA มีความสามารถระดับโลก และจะทำให้อินเดียมีโอกาสส่งออกไปประเทศกลุ่มนี้มากขึ้น
ความสำเร็จจากการจัดทำ TEPA กับ EFTA ซึ่งถือว่าเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง ทำให้อินเดียมีความหวังว่า การเจรจา FTA ระหว่างอินเดียกับสหราชอาณาจักร EU และโอมาน ที่ยังอยู่ในกระบวนการจะลุล่วงเร็วขึ้น โดยขณะนี้ อินเดียมีการทำ FTA แล้วทั้งหมด 14 ฉบับรวม TEPA สำหรับไทย TEPA อาจเป็นข้อพิจารณา 3 ด้าน ได้แก่ (1) ทำให้มีการลงทุนภาคการผลิตในอินเดียมากขึ้น โดยเฉพาะยา เวชภัณฑ์และอาหาร จึงอาจเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าที่เป็นต้นน้ำในระบบ supply chain (2) เป็นการแข่งขันการดึงดูดการลงทุนของไทยจากประเทศในกลุ่ม EFTA (3) อาจศึกษาแนวทางการเจรจา TEPA สำหรับ FTA ไทย – อินเดีย โดยเฉพาะด้านการค้าบริการและลงทุน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์