ปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (NER) เป็นศูนย์กลางของ Act East Policy และเสมือนเป็นประตูสู่การพัฒนาในหลายๆด้านของอินเดีย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีการกล่าวถึงนโยบายการพัฒนาภูมิภาคนี้ในโอกาสการกล่าวสุนทรพจน์และการแถลงนโยบายต่างๆ เสมอ รวมทั้งในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณของอินเดีย ปี 2565 โดยได้ให้น้ำหนักงบประมาณเพื่อการพัฒนา NER ไว้จำนวน 1.5 หมื่นล้านรูปี เพื่อพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่
.
(1) เสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคและระหว่าง NER กับส่วนอื่น ๆ ของอินเดียรวมทั้งต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างท่าอากาศยาน ทางรถไฟ ทางหลวงสายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงทางหลวงที่เชื่อมกับถนนสามฝ่าย
(2) พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยยกระดับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างครอบคลุม
(3) พัฒนาเศรษฐกิจและสร้างงานสร้างรายได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว โดยสอดคล้องตามนโยบาย Self-reliance ของอินเดียทั้งในแง่การเสริมสร้างขีดความสามารถในการพึ่งพาตัวเองของท้องถิ่น และการได้รับประโยชน์จากนโยบายระดับชาติ เช่น National Mission on Edible Oils – Oil Palm
.
ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมที ได้เดินทางเยือน 2 รัฐใน NER ได้แก่ รัฐมณีปุระ เพื่อเป็นประธานเปิดตัวและวางศิลาฤกษ์โครงการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และรัฐตริปุระ เพื่อเป็นประธานงานเปิดอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ณ ท่าอากาศยาน Maharaja Bir Bikram (MBB) เมือง Agarlata พร้อมเปิดตัวโครงการด้านการพัฒนาในรัฐ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 นายกรัฐมนตรีโมที ได้กล่าวสุนทรพจน์ใน รูปแบบทางไกล เนื่องในวันแห่งรัฐ (50th Statehood Day) ของรัฐมณีปุระ เมฆาลัย และตริปุระ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการพัฒนาในรัฐต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
.
การพัฒนาในรัฐอัสสัม
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นายกรัฐมนตรีโมที ได้เดินทางเยือนรัฐอัสสัมและได้เปิดตัวโครงการ “Asom Mala” ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบครอบคลุมเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและยกระดับสิ่งอำนวย ความสะดวกให้ทันสมัย เพื่อปูทางไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะในมิติการสร้างงาน การส่งเสริมการค้า และการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเน้นการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น ทางหลวง สะพาน ควบคู่ไปกับการก่อสร้างและปรับปรุงถนนเพื่อเชื่อมต่อกับในระดับท้องถิ่นและหมู่บ้าน นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่น ด้านสาธารณสุข โดยเร่งก่อสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพิ่มเติม (โรงพยาบาล AIIMS) การสร้างมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ในรัฐ (รวมเป็น 8 แห่ง) ด้านการศึกษา โดยก่อสร้างมหาวิทยาลัยอาชีวะและวิศวกรรมเพิ่ม 8 แห่ง (รวม IIT Guwahati) และก่อตั้งแล็บด้านนวัตกรรมและ Start-up ด้านดิจิทัล มุ่งพัฒนาอินเทอร์เน็ต จัดตั้ง Data Centre ในรัฐเพื่อเป็นศูนย์กลางด้าน IT ของ NER
.
การพัฒนาในรัฐมณีปุระ
โครงการพัฒนาสำคัญในพื้นที่ที่ผ่านมา ได้แก่ (1) การสร้างความเชื่อมโยง เช่น เส้นทาง รถไฟ Jiribam-Tupul-Imphal การยกระดับท่าอากาศยาน Imphal ให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติการเชื่อมโยงทางหลวงในรัฐกับถนนสามฝ่าย (2) สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น การให้บริการระบบแก๊สในครัวเรือนและโครงข่ายไฟฟ้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (3) อนามัยและสาธารณสุข เช่น การติดตั้งโถสุขภัณฑ์การให้บริการรักษาพยาบาล และการให้บริการวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายการติดตั้งเครื่องออกซิเจนในทุกตำบล นอกจากนั้น นายกฯ ยังมีการเปิดตัว 13 โครงการ (มูลค่าประมาณ 18.5 พันล้านรูปี) เช่น สะพานเหล็กเชื่อมเมือง Silchar กับ Imphal ระบบน้ำดื่มสะอาด Integrated Command and Control Centre (ICCC) ซึ่งเป็นศูนย์ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมระบบให้บริการในเมือง เช่น ระบบบริหารการจราจร ระบบเฝ้าระวัง และวางศิลาฤกษ์ 9 โครงการ (มูลค่าประมาณ 29.5 พันล้านรูปี) โครงการสำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างทางหลวง จำนวน 5 สาย โรงพยาบาลโรคมะเร็ง Centre for Invention Innovation Incubation and Training (CIIT) และสถาบันศิลปะการแสดง รวมทั้งโครงการพัฒนาชุมชนผ้าทอ
.
ส่วนการพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่น การก่อสร้างอาคารคลังสินค้าแบบรวมศูนย์เพื่อส่งเสริมการค้าและการส่งออกของรัฐ รวมทั้งสนับสนุนนโยบาย Self-reliance และการพัฒนาเยาวชนและกีฬา มุ่งให้มณีปุระเป็น “Sports Powerhouse” ของประเทศโดยก่อตั้งมหาวิทยาลัยด้านกีฬาในรัฐ
.
การพัฒนาในรัฐตริปุระ
มีการตั้งโมเดลสร้างเสริมความเชื่อมโยง “HIRA” ประกอบด้วย ทางหลวง อินเทอร์เน็ต ทางรถไฟ และการบิน ซึ่งจะสนับสนุนให้ตริปุระเป็นประตูสู่ NER รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจและระเบียงการค้า ของ NER ต่อไป นอกจากการเปิดท่าอากาศยาน นายกฯ ได้เปิดตัวโครงการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการสำคัญ เช่น ท่อน้ำดื่มไฟฟ้า หลักประกันสุขภาพ ที่อยู่อาศัย สุขภัณฑ์ รวมถึงเปิดตัวโครงการด้านการศึกษา ส่งเสริมให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและพัฒนาให้โรงเรียนมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ซึ่งรวมถึงห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ICT และ STEM โดยสอดคล้องตามนโยบาย NEP2020
.
ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้พัฒนาอุตสาหกรรมไม้ไผ่ โดยการสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ โดยตริปุระสามารถมีบทบาทในการส่งเสริมนโยบายการยกเลิกการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งของประเทศ และการทำฟาร์มผักและผลไมปลอดสารพิษ ซึ่งเกษตรกรจะได้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางราง และการก่อสร้างอาคารคลังสินค้าในท่าอากาศยาน MBB ในอนาคต
.
จากนโยบายการพัฒนา NER ของอินเดียข้างต้น นับเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในการนำมาพัฒนาภาคอื่น ๆ ในประเทศไทยนอกเหนือจากการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ (ECC) กล่าวคือ แต่ละภาคของประเทศไทยล้วนแล้วแต่มีศักยภาพและความน่าสนใจที่แตกต่างกัน หากแต่ละพื้นที่ได้รับการยกระดับและพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ประเทศไทยอาจมีรายรับเข้าประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการนำความความเจริญเข้าสู่ผู้คนอย่างทั่วถึงอีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี