Bharat Chamber of Commerce เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2469 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มนักธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม ผู้แทนทางการค้า และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ มากกว่า 35 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เหล็ก และโลหะ อุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมสิ่งทอ ปอกระเจา ใบชา เทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัทอสังหาริมทรัพย์และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนโอกาสในการดำเนินธุรกิจ ดังนี้
(1) ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโดยการเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการในทุกระดับ
(2) เพิ่มบทบาทและอำนาจทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ผ่านการให้คำปรึกษาในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และนำกลยุทธ์การตลาดมาปรับใช้ในการประกอบธุรกิจ และ
(3) ส่งเสริมการค้าทวิภาคี โดยสร้างโอกาสและลู่ทางแก่นักธุรกิจในการประกอบธุรกิจในต่างประเทศ พร้อมสานต่อความร่วมมือ เช่น การส่งเสริมการค้าระหว่างภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของอินเดียร่วมกับบริษัทต่างชาติ และการทำความตกลงทางการค้าระหว่างกลุ่มสมาชิกและนักลงทุนต่างชาติ
ทั้งนี้ ด้วยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ทางสถานกงสุลใหญ่ได้พบกับอดีตประธานและเลขาธิการ Bharat Chamber of Commerce เมืองกัลกัตตา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือสถานการณ์การค้าการลงทุนระหว่างไทยและอินเดีย โดยเฉพาะในรัฐเบงกอลตะวันตก เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าร่วมกัน
ฝ่ายอินเดีย ได้ต้อนรับภาคเอกชนไทยเมื่อปี 2548 2560 และ 2563 พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้า การลงทุนในภูมิภาคตะวันออกของอินเดีย รวมถึงการแลกเปลี่ยนการเยือนคณะนักธุรกิจของทั้งสองประเทศ
ฝ่ายไทย ได้กล่าวถึงกิจกรรมใหญ่ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในปี 2565 พร้อมเชิญผู้แทนอินเดียเข้าร่วมงาน Gems and Jewel Expo 2022 ในเดือนกันยายน เพื่อเพิ่มโอกาสและสร้างเครือข่ายระหว่างนักธุรกิจไทยและผู้ประกอบการจากทั่วโลก ทั้งนี้ ได้กล่าวถึงภาพรวมการค้าระหว่างไทย – อินเดียยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 52 จากปี 2564 โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินเดีย ได้แก่ โพลิเมอร์ น้ำมันปาล์ม หินสี วัตถุดิบประกอบอาหาร วัสดุก่อสร้าง และสินค้าอุปโภคบริโภค
จากข้างต้น รัฐเบงกอลตะวันตก เป็นรัฐที่กำลังเติบโตและยังมีศักยภาพอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs ที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐให้ความสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ ฝ่ายอินเดียได้แสดงความประสงค์ที่จัดคณะนักธุรกิจแลกเปลี่ยนการเยือนเพื่อแสวงหาลู่ทางการค้าและความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำ MOU กับหอการค้าไทย และเห็นว่าสาขาที่สามารถร่วมมือกันได้ อาทิ ยางพาราและผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ อินเดียยังได้เน้นยำถึงความสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และการเป็นหน่วยงานสื่อกลางที่มีบทบาทในการประสานกับรัฐบาลรัฐฯ นั้น ทำให้ Bharat Chamber of Commerce จึงเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทย – อินเดีย และประสานงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์