เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีนําเข้าสินค้าจากอินเดียในอัตราร้อยละ 27 และได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะเพชรของอินเดียนั้น มีการคาดการณ์ว่า การขึ้นภาษีนําเข้าของสหรัฐฯ ต่ออินเดียในครั้งนี้ จะส่งผลให้ราคาส่งออกของเพชรธรรมชาติไปยังสหรัฐฯ มีราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐ/กะรัต (ขึ้นอยู่กับคุณภาพ) ในขณะที่เพชร Lab Grown จะมีราคาส่งออกเพิ่มขึ้นอีก 30 ดอลลาร์สหรัฐ/กะรัต และการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนําเข้าในครั้งนี้ อาจส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเพชรของอินเดียไปยังตลาดสหรัฐฯ ลดลงไประหว่าง 30% – 50 %
ทั้งนี้ ก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศขึ้นภาษีนําเข้าในครั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเพชรของอินเดียได้พยายามหาแนวทางในการลดเงื่อนไขที่สหรัฐฯ จะใช้เป็นข้ออ้างในการขึ้นภาษีนําเข้าเพชรจากอินเดีย อาทิ ได้มีการเสนอให้รัฐบาลอินเดียพิจารณาลดอัตราภาษีนําเข้าที่เก็บจากเพชรจากสหรัฐฯ ลงมาจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 0 (เนื่องจากสหรัฐฯ ส่งออกเพชร จํานวนเพียงเล็กน้อยมายังอินเดีย การลดอัตราภาษีนําเข้าลง จึงไม่กระทบต่อรายได้ของรัฐบาลจากการเก็บภาษีมากนัก) รวมทั้ง เร่งรัดให้รัฐบาลอินเดียเจรจา FTA กับสหรัฐฯ และลดอัตราภาษีนําเข้าสําหรับสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ ลง ในขณะที่ รัฐบาลรัฐคุชราตอยู่ในระหว่างการหามาตรการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเพชรของรัฐคุชราต
ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการของอินเดียก็ได้มีความพยายามที่จะแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพิ่มเติม อาทิ ดูไบ แต่ก็คาดว่าจะไม่ประสบความสําเร็จมากนัก เนื่องจากตลาดมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และอาจมีปัญหาเกี่ยวกับเอกสารถิ่นกําเนิดสินค้า หากมีการส่งออกต่อไปยังตลาดสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ในปี 2567 ปริมาณการค้าระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ มีมูลค่า 118.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอินเดียนําเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 40.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อินเดียส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 77.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกินดุลสหรัฐฯ 36.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยสินค้าส่งออกของอินเดียที่สําคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรกลทางวิศวกรรม (17.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และอัญมณีและเครื่องประดับ (9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
สหรัฐฯ เป็นประเทศผู้นําเข้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย คิดเป็นร้อยละ 30.4 ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียทั้งหมด ในปี 2567 อินเดียส่งออกเพชรธรรมชาติ และเพชร Lab Grown ไปยังสหรัฐเป็นมูลค่าประมาณ 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียไปยังสหรัฐฯ โดยร้อยละ 80 ของอุตสาหกรรมเพชรของอินเดียมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง Surat ทางตอนใต้ของรัฐคุชราต มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมเพชรกว่า 8 แสนคน

ผลต่อประเทศไทย
การเรียกเก็บภาษีนําเข้าของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเพชรของอินเดียไปยังตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่น่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกเพชร (HS Code 7102) จากไทยไปยังอินเดีย โดยในปีที่ผ่านมามีสัดส่วนร้อยละ 13 ของการส่งออกเพชรของไทยทั้งหมด เนื่องจากความต้องการนําเข้าเพชรของอินเดียอาจลดลง นอกจากนี้ การที่ไทยถูกสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนําเข้าในอัตราที่สูงกว่าอินเดีย ส่งผลให้เพชรที่นําเข้าจากไทยมีราคาสูงกว่าเพชรที่นําเข้าจากอินเดีย ในขณะที่ตลาดผู้บริโภคหดตัวลง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของเพชรจากไทยในตลาดสหรัฐฯ ประสบกับความท้าทายมากขึ้นอีกด้วย
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์