สํานักข่าวในอินเดียหลายสํานักรายงานข่าวการจําหน่ายบัตรคอนเสิร์ตของศิลปินวง Coldplay จํานวน 3 รอบ ที่จัดขึ้นในเดือนมกราคม 2568 ที่เมืองมุมไบว่า คอนเสิร์ตดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างสูง โดยบัตรคอนเสิร์ตสองรอบแรกในวันที่ 18 และ 19 มกราคม จําหน่ายหมดภายในไม่กี่นาที ทําให้ผู้จัดต้องเพิ่มรอบการแสดงอีกหนึ่งรอบในวันที่ 21 มกราคม 2568 โดยมีราคาบัตรเริ่มต้นที่ 2,500 รูปี และสูงสุดถึง 35,000 รูปี ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนรอซื้อบัตรคอนเสิร์ตทางออนไลน์ทั้ง 3 รอบถึง 13 ล้านคนภายในวันเดียว อย่างไรก็ดี พบว่ามีการนําบัตรคอนเสิร์ตดังกล่าวมาขายต่อในตลาดมืดและ platform ตลาดออนไลน์ต่าง ๆ ในราคาที่สูงมากถึง ราว 3 แสนรูปี (ประมาณ 116,000 บาท)
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันคนอินเดียที่มีรายได้ดีสามารถเข้าถึงความหรูหราได้มากขึ้น และมีกําลังซื้อบริการและประสบการณ์ระดับ high-end ประเภทอาหาร ที่พัก และการเดินทาง
นอกเหนือจากคอนเสิร์ตแล้ว กิจกรรมบันเทิงอื่น ๆ เช่น เทศกาลศิลปะ ดนตรี และการแสดงสด กลายเป็นความนิยมหลักในสังคมอินเดีย โดยเว็บไซต์ BookMyShow ผู้ให้บริการจําหน่ายบัตรคอนเสิร์ตและอีเวนต์ รายงานว่า กิจกรรมความบันเทิงของอินเดียเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในปี 2566-2567 เนื่องจากมีผู้ที่พร้อมซื้อประสบการณ์ พรีเมียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 82 โดยเฉพาะงานอีเวนต์จากต่างประเทศ โดยในปี 2567 มีผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z (อายุ 11-26 ปี) มากกว่า ร้อยละ 45 ที่ซื้อบัตรเข้าร่วมงานดนตรีสดผ่าน BookMyShow

นอกจากนี้ ด้านการท่องเที่ยว พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปจะเห็นได้ชัดเจนจากราคาห้องพักในโรงแรมหรูช่วงวันหยุดยาวของอินเดียในปี 2566 ที่สูงขึ้นแตะหลักแสนรูปี และตามข้อมูลของ MakeMyTrip บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ชั้นนําของอินเดียที่ให้บริการจองตั๋วโดยสาร เครื่องบิน โรงแรมและแพ็กเกจท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าการจองห้องพักในโรงแรมราคาแพงเพิ่มขึ้นจากเดิม ร้อยละ 90 หลังจากเกิดการระบาดของ COVID-19 ระลอกแรก และร้อยละ 40 หลังจากระลอกที่สอง เป็นเครื่องบ่งชี้ความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการของอินเดีย
รายงานของ Global Wealth Report โดย Credit Suisse ให้ข้อมูลว่า ในช่วงปี 2565-2567 ชาวอินเดียที่มีกำลังซื้อสูง หรือ ผู้มีสินทรัพย์สภาพคล่อง 5 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป มีจํานวนราวร้อยละ 2-4 ของประชากรอินเดียทั้งหมด เท่ากับ ประมาณ 30-60 ล้านคน (ร้อยละ 1 ในจํานวนนั้นเป็น “อภิมหาเศรษฐี” ที่มีสินทรัพย์สภาพคล่อง 10 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป) โดยชาวอินเดียกลุ่มนี้เริ่มเปลี่ยนความสนใจจากสินค้าหรูที่เป็นวัตถุมาเป็นการซื้อประสบการณ์ตรงต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มไลฟ์ของทั่วโลกที่เรียกว่า “experience economy” ที่มีการเอ่ยถึงครั้งแรกในปี 2541 ในหนังสือ The Experience Economy ของ Joseph Pine และ James Gilmore ว่าธุรกิจต่าง ๆ ไม่สามารถแข่งขันได้เพียงแค่การเสนอสินค้าหรือบริการคุณภาพดีเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจําและมีความหมายให้กับผู้บริโภคด้วย โดยมีปัจจัยผลักดันสําคัญคือ 1) พฤติกรรมการบริโภคของรุ่น Millennials และ Gen Z 2) เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ที่ทําให้ผู้บริโภค “กลัวตกกระแส” 3) ความคาดหวังที่จะได้รับประสบการณ์ที่ออกแบบเฉพาะบุคคล (customized experiences) และ 4) การแสวงหาสุขภาพที่ดีและการพัฒนาตนเอง
โดยในอินเดียพฤติกรรมแสวงหาประสบการณ์พิเศษเริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงปี 2553 เมื่อชาวอินเดียรุ่น Millennials (อายุ 25-40 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มคนทํางานที่มีกําลังซื้อราวร้อยละ 78 หันมาให้ความสําคัญกับประสบการณ์ที่ น่าจดจํามากกว่าการซื้อสินค้าประกอบกับภายหลังการระบาดของ COVID-19 ชาวอินเดียต่างก็กระตือรือร้นที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อทดแทนช่วงเวลาที่ถูกล็อคดาวน์ และพร้อมจะจ่ายเงินจํานวนมากเพื่อสัมผัสกับประสบการณ์ที่ทําให้เกิดความสุขทาง ใจและความทรงจํามีคุณค่าซึ่งเติมเต็มจิตใจมากกว่าวัตถุ

สําหรับประเทศไทย สามารถใช้ประโยชน์จากกระแสความนิยม Experience Economy ในอินเดียด้านการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับความต้องการประสบการณ์ราคาแพง เช่น (1) Luxury Travel: การท่องเที่ยวแบบส่วนตัวและการพักผ่อนในสถานที่พิเศษ (2) Curated Experiences: ประสบการณ์ที่ออกแบบเฉพาะบุคคล (3) Wellness Tourism: การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เน้นการดูแลตัวเองและสุขภาพจิตใจ (4) Exclusive Adventure: การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยที่เข้าถึงได้ยาก นอกจากนี้ การจัดอีเวนต์ระดับโลก เช่น คอนเสิร์ต ศิลปะการแสดง หรืองานกีฬาแบบครบวงจรในประเทศไทย จะสามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียที่มีฐานะจํานวนมาก ช่วยสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น และช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของไทยได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ข้อมูล /เรียบเรียง : สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
