เศรษฐกิจอินเดียในปี 2567 ยังคงขยายตัวแม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 (ก.ค.-ก.ย. 2567) ของปีงบประมาณ ปัจจุบัน GDP หดตัวลงเหลือเพียงร้อยละ 5.4 ซึ่งต่อมาธนาคารกลางอินเดียได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัว ของ GDP ในปีงบประมาณนี้ จากเดิมร้อยละ 7-7.2 เป็นร้อยละ 6.6 ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณสะท้อนว่าเศรษฐกิจอินเดียในอนาคตอาจจะเริ่มชะลอตัวลงและไม่เป็นไปตามคาด โดย IMF ได้ประมาณการ GDP ต่อหัวของประชากรในปี 2567 ไว้ที่ 2,698 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 144 จาก 194 ประเทศ/เขต เศรษฐกิจ และคาดว่าในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,937 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนว่าประชากรผู้มีรายได้ระดับกลางเพิ่มมากขึ้นและจะส่งเสริมให้มีอุปสงค์ในการบริโภคมากขึ้น
อินเดียยังคงสถานะเป็น อันดับที่ 5 ของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก รองจากสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี อย่างไรก็ดี IMF คาดการณ์ว่าในปีงบประมาณต่อไป อินเดียจะก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 4 ด้วย GDP 4,340 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองจากสหรัฐฯ จีน และเยอรมนี และคาดว่าในปี 2570 จะเลื่อนขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 ตามที่รัฐบาลอินเดียตั้งเป้าไว้
โดยปัจจัยสนับสนุนหลักของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ นโยบายด้านการค้าและการลงทุน การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน การไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศ การขยายตัวของภาคการส่งออก และ งบประมาณลงทุนของภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานที่สูง การขาดแรงงานที่มีทักษะฝีมือ รวมทั้งระบบคมนาคมขนส่ง และ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของอินเดีย
การค้า
ในภาพรวม มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในปี 2567 ของอินเดียเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังคงขาดดุลการค้ามากขึ้น และเป็นประเด็นที่รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญอย่างมากที่ต้องการจะแก้ไข เห็นได้จากการมี
(1) นโยบายให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิตภายในประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดหรือ ทดแทนการนำเข้า (2) การออกนโยบายส่งเสริมโอกาสและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกให้สามารถแข่งขันได้ (3) การกำหนดมาตรการ/ระเบียบที่เข้มข้นขึ้นสำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และ (4) การชะลอการจัดทำข้อตกลงเขตเศรษฐกิจพิเศษ (FTA) ซึ่งในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ย. 2567 อินเดียมีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 7.61 และนำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 9.55 หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอินเดียขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลอินเดียจึงมีแนวโน้มที่จะชะลอ/ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน ซึ่งอินเดียขาดดุลการค้าสูง ผ่านการใช้มาตรการต่าง ๆ ที่มิใช่ภาษี แม้ว่าอินเดียจะยังไม่สามารถผลิตสินค้าบางประเภทได้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศก็ตาม นอกจากนี้ ในปี 2567 รัฐบาลอินเดียได้สอบสวนการทุ่มตลาดสินค้าจาก จีน ไทย และไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทพลาสติกและเคมีภัณฑ์
การลงทุน
อินเดียยังคงเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยเกื้อกูลจากขนาดของตลาดที่ใหญ่และกำลังเติบโต ค่าแรงต่ำ วัตถุดิบที่หลากหลาย นโยบายของรัฐบาลกลางที่กำหนดเป้าหมายการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขาต่าง ๆ และให้สิทธิประโยชน์ที่ชัดเจน เช่น Green Hydrogen เวชภัณฑ์และยา IT และดิจิทัล ยานยนต์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของรัฐต่าง ๆ ที่มีนโยบายเสริมกัน โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ระหว่าง เม.ย. 2543-ก.ย. 2567 มีมูลค่าสะสม 1.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยร้อยละ 69 เป็นการลงทุนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 และในครึ่งแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน มีมูลค่าเงินลงทุนไหลเข้า ประมาณ 42.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเปรียบเทียบ กับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ ก่อนหน้า
ในปี 2567 รัฐบาลอินเดียได้ปฏิรูปนโยบายเพื่อสนับสนุนการลงทุน อาทิ การเปิดเสรีการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมบางประเภท มาตรการ Production-Linked Incentives (PLI) การให้แรงจูงใจด้านภาษี การปรับปรุงความสะดวกในการทำธุรกิจ โดยหวังจะดึงดูดและกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างประเทศที่มีความโดดเด่นในปีนี้ ได้แก่ โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ การตั้ง Data center โรงงานผลิต โทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ทางการแพทย์ พลังงานทางเลือก ยานยนต์ ซึ่งเป็นสาขาที่รัฐบาลอินเดีย พยายามผลักดันภายใต้นโยบาย Make in India
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
รัฐบาลอินเดีย ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศอย่างจริงจัง เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศขนาดใหญ่แต่ยังขาดโครงข่ายคมนาคมเพื่อเข้าถึงพื้นที่แต่ละรัฐได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งมีส่วนท้าทายต่อการพัฒนา รวมถึงบางพื้นที่อาจเป็นจุดอ่อนต่อความมั่นคง ซึ่งในปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียเร่งการก่อสร้างถนนและรางรถไฟเพื่อเชื่อมโยง รัฐ/เมืองต่าง ๆ การพัฒนาท่าเรือและศูนย์โลจิสติกส์รวมถึงก่อสร้างสนามบินกว่า 20 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการว่างงานเกือบร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรวัยทำงานยังเป็นความท้าทายหลักของรัฐบาล อีกทั้งยังมีประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติ/ทักษะของเยาวชนที่ไม่ได้มาตรฐานมากพอที่จะได้รับการจ้างงาน ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการศึกษา รัฐบาลอินเดียจึงให้ความสำคัญกับการตั้งสถาบันการศึกษาและสถาบันฝึกวิชาชีพ/แรงงานเพื่อยกระดับทักษะ และเร่งรัด โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราการจ้างแรงงานสูงขึ้น
นอกจากนั้น อินเดียยังคงประสบปัญหาเงินเฟ้อในอัตราร้อยละ 5.48 จากราคาสินค้าอาหารและเชื้อเพลิง จนทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น จนส่งผลให้การใช้จ่ายของประชาชน ชะลอตัว ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ เช่น เทศกาลดีวาลีที่ยอดการขายสินค้าลดลง
ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียยังคงมุ่งผลักดัน นโยบาย Atmanirbhar Bharat Abhiyan หรือ Self Reliant India อย่างต่อเนื่องเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและแก้ปัญหาการว่างงาน ซี่งความพยายามนี้ ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการที่รัฐบาลท้องถิ่นของหลายรัฐริเริ่มจัดนิทรรศการส่งเสริมการค้า/การลงทุนในรัฐของตนเอง เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงและสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ทักษะแรงงานและความพร้อมด้านโลจิสติกส์ รวมถึงความซับซ้อนของกฎระเบียบของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นก็ยังคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนแม้หลาย ๆ รัฐจะพยายามปรับปรุงแล้วก็ตาม
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี