“เมืองสุรัต” เป็นแหล่งเจียระไนเพชรถึงร้อยละ 90 ของโลก เป็นแหล่งผลิตผ้าและเส้นด้ายโดยมนุษย์ ร้อยละ 40 และ 28 ของอินเดียตามลําดับ และเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart city) ที่ได้รับรางวัล Smart City ที่ดีที่สุดต่อเนื่อง 3 ปี ทั้งยังเป็นเมืองสะอาดที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอินเดีย อีกทั้งขึ้นชื่อด้านการสร้างสะพานและเมืองสีเขียว โดยมีสะพานทั้งสิ้น 115 สะพาน และมีสวนสาธารณะทั้งสิ้น 200 แห่ง โดยเทศบาลเมืองสุรัตยังได้รับรางวัลการบริหารเมืองดีเด่นเป็นอันดับ 2 จากการจัดอันดับของทางการอินเดีย
.
เทศบาลเมืองสุรัตมีแผนจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคม ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งปัจจุบัน มีเส้นทางเดินรถโดยสาร BRTS ระยะทาง 110 กิโลเมตร และ City Bus ระยะทาง 400 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีโครงการจะสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมต่อเมือง ระยะทาง 40.35 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินประมาณ 6.47 กิโลเมตร โดยเป็นโครงการความร่วมมือในการลงทุนระหว่าง Gujarat Metro Rail Corporation และ รัฐบาลรัฐคุชราต/รัฐบาลอินเดีย ในสัดส่วน 50:50 พร้อมทั้งได้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สําหรับคนยากจนเพื่อลดการอยู่อาศัยในชุมชนแออัด ซึ่งจากเดิมมีผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดร้อยละ 20.87 ในปี ค.ศ. 2001 ลดลงเหลือร้อยละ 5.99 ในปี ค.ศ. 2020
.
ด้านการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเมืองสุรัตนั้น ได้ประสบความสําเร็จอย่างมาก โดยใช้แนวทางในการรับมือ 3Ts คือ Testing, Tracking และ Treatment โดยเน้นการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อCOVID-19 เชิงรุกในพื้นที่ต่าง ๆ และกระจายจุดตรวจทั่วเมือง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เมื่อพบผู้ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่จะกันพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุม (Containment Zone) ในขณะนี้ อัตราการติดเชื้อในเมืองสุรัตลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางการเมืองสุรัตจึงได้เร่งดําเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนแล้วกว่า 2.4 ล้านโดส โดยใช้ Community hall เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนในแต่ละชุมชน นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบแอปพลิเคชั่น “SMC COVID 19 Tracker App” เพื่อติดตามประวัติการสัมผัสโรคของประชาชน และผู้เดินทางเข้ามาในพื้นที่เมืองสุรัต
.
ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีในด้านความร่วมมือของธุรกิจกับเมืองสุรัต ทั้งด้านอาหาร การก่อสร้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอัญมณี ที่รัฐบาลอินเดียให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก เช่น การยกเว้นอากรขาเข้า การอนุญาตให้บริษัทต่างชาติลงทุนโดยตรงได้100% และมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรมสำหรับอัญมณีและเครื่องประดับ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยด้านอุตสาหกรรมอัญมณี รวมถึงผ้า และเส้นด้าย อาจพิจารณานำเข้าเพชรและผ้าจากเมืองสุรัต เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทาน โดยแปรรูป หรือเพิ่มมูลค่าแก่สินค้า ด้วยการออกแบบ โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเฉพาะตัวที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย เพื่อส่งกลับไปตีตลาดอินเดีย และตลาดโลก เนื่องจากชาวอินเดียรุ่นใหม่ที่กระจายอยู่ทั่วโลก มีความนิยมสวมใส่เครื่องประดับและเสื้อผ้าที่ใช้แนวคิดสร้างสรรรค์ ทันสมัย และน้ําหนักเบามากขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาพฤติกรรม และแนวโน้มความต้องการของลูกค้าชาวอินเดียด้วย
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
.
แหล่งที่มา:
https://www.thaiindia.net/98-insight-india/589-2012-02-02-09-24-36.html