อุตสาหกรรมยานยนต์ของรัฐมหาราษฏระ เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ คิดเป็นร้อยละ 7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของรัฐ (Gross State Domestic Product: GSDP) และร้อยละ 15.3 ของ GSDP ภาคอุตสาหกรรม รัฐมหาราษฏระสามารถผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 20 และร้อยละ 21 ของทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศ รวมถึงมีการจ้างงานโดยตรงกว่า 340,000 คน และโดยอ้อมอีกเป็นจํานวนมาก
อีกทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ของรัฐมหาราษฏระ มีศูนย์กลางอยู่ใน 5 เขตใหญ่ของรัฐ ได้แก่ Pune, Mumbai, Nashik, Aurangabad และ Nagpur มีผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้จํานวน 16,602 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการประเภท Original Equipment Manufacturers (OEMs) จํานวน 26 ราย และผู้ประกอบการประเภท Auto Component Manufacturers (ACMs) จํานวน 16,576 ราย โดยรวมแล้วกว่าร้อยละ 97 ของผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของรัฐมหาราษฏระ เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและรายย่อย ตลอดจนเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ยี่ห้อสําคัญ ๆ ในอินเดีย เช่น Audi, Volkswagen, Skoda, General Motors, Land Rover, Fiat, Mercedes Benz, Force Motors, Mahindra & Mahindra และ Jaguar
นอกจากนี้ รัฐมหาราษฏระ ถือเป็นรัฐที่มีบทบาทอย่างเข้มแข็งในการเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) มาเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ในปี 2564 โดยรัฐบาลรัฐได้ออกนโยบาย Maharashtra Electric Vehicle (EV) Policy 2021 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐมหาราษฏระเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ EV ของอินเดีย โดยมีมาตรการต่าง ๆ สนับสนุนให้ประชาชนใช้ยานยนต์ EV มากขึ้น เช่น ยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง การให้เงินอุดหนุนสำหรับการซื้อยานยนต์ EV ในขณะที่ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ จากรัฐบาล
ผลจากนโยบายสนับสนุนยานยนต์ EV ดังกล่าว ส่งผลให้ยอดการจําหน่ายยานยนต์ EV ในรัฐมหาราษฏระมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าปัจจุบันมียานยนต์ EV จดทะเบียนในรัฐนี้ประมาณ 400,000 คัน เป็นอันดับ 2 รองจากรัฐอุตตรประเทศ อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์สันดาปมาเป็นยานยนต์ EV มีรายละเอียด ดังนี้
(1) ทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในยานยนต์สันดาปหมดประโยชน์ไปประมาณร้อยละ 45 – ร้อยละ 84 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตเป็นจํานวนมาก
(2) ผู้ประกอบการขนาดเล็กและรายย่อยจะประสบกับปัญหาในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยน ผ่านเป็นยานยนต์ EV เนื่องจากข้อจํากัดในด้านเงินทุน เทคโนโลยี และทักษะแรงงาน
(3) แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปเดิมประมาณร้อยละ 17 จําเป็นต้องได้รับการฝึกฝนและอบรมใหม่ เพื่อเข้าสู่ระบบนิเวศน์ของยานยนต์ EV ในขณะที่แรงงานอีกประมาณร้อยละ 14 จะไม่ได้รับการจ้างงานต่อ
(4) เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปตั้งอยู่อย่างหนาแน่น เช่น Pune
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
