สรุปสาระสำคัญจากการประชุม The International Monetary Fund (IMF) and World Bank Group’s Spring Meetings 2024 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 20 เมษายน 2567 ณ สำนักงานใหญ่ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยมีรายละเอียดดังนี้
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
IMF ได้เน้นย้ำ การคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกที่ชะลอตัวจากร้อยละ 3.4 ในปี 2565 เหลือร้อยละ 2.8 ในปี 2566 โดยสาเหตุหนึ่งของการชะลอตัวนี้ เกิดจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงจากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (economic fragmentation) ที่มีส่วนทำให้การค้าโลกและการใช้เทคโนโลยี (technology adoption) หดตัวลง รวมถึงยังกระทบต่อการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกในอนาคต (โดยก่อนหน้านี้ได้เกิดการล้มของธนาคารรายใหญ่ และความไม่มั่นคงทางการเงินโลก)
หนี้และอัตราเงินเฟ้อ
ภายในการประชุมได้กล่าวถึง แผนเชิงกลยุทธ์ในการจัดการหนี้ทั่วโลกและอัตราเงินเฟ้อที่สูง โดยการส่งเสริมความเข้าใจที่มากขึ้น และการเร่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับประเทศที่ประสบปัญหา โดยเฉพาะประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ทั้งนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดการกับระดับหนี้ที่สูงอย่างรอบคอบเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และทำให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีความเปราะบาง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การประชุมยังได้เน้นย้ำถึง Climate Change Knowledge Portal (CCKP) และ Global Food and Nutrition Security (FNS) Dashboard ของธนาคารโลกว่า เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงด้านอาหาร โดย CCKP ถูกนำมาใช้โดยหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ หน่วยงาน Climate Directorate ของฟิลิปปินส์ เพื่อดำเนินการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยอิงตามข้อมูลอัพเดทล่าสุด ในขณะเดียวกัน FNS Dashboard ได้ช่วยในการจัดทำรายงานด้านการผลิตของเยเมน ซึ่งช่วยเพิ่มการตัดสินใจด้านความมั่นคงทางอาหารด้วยข้อมูลที่มีร่วมกัน ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหารอย่างมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการตัดสินใจในการปฏิบัติงาน และการปรับปรุงการจัดสรรทรัพยากร
นอกจากนี้ Resilience and Sustainability Trust (RST) ของ IMF ยังได้ถูกเน้นย้ำว่า เป็นข้อริเริ่มที่สำคัญในการจัดหาเงินทุนสนับสนุนระยะยาวสำหรับการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยประเทศต่าง ๆ เช่น รวันดา บาร์เบโดส คอสตาริกา บังกลาเทศ และจาเมกา ได้บรรลุข้อตกลงโครงการนำร่องกับ RST แล้ว
ผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง และช่องแคบไต้หวัน ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจนำไปสู่การหยุดชะงักครั้งใหญ่ของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เช่น น้ำมัน และเซมิคอนดักเตอร์ โดย IMF ได้เน้นย้ำถึงผลกระทบของความขัดแย้งดังกล่าว รวมถึงความจำเป็นในการเตรียมการเชิงกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง (ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างภูมิรัฐศาสตร์และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลก) และ IMF ยังชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า ความท้าทายใหม่ระดับภูมิภาคที่เกิดจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ความขัดแย้งในฉนวนกาซา และการหยุดชะงักของการขนส่งในทะเลแดง ได้เพิ่มช่องโหว่ที่เกี่ยวข้องกับระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นด้วย จึงได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของนโยบายเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว และเพื่อเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจโลกด้วย
ทั้งนี้ World Bank ยังได้ประกาศโครงการใหม่ ๆ อีกหลายประการในการประชุม ได้แก่ การปรับเปลี่ยนสถาบัน (institute transformation) การจัดหาไฟฟ้าให้แก่ 250 ล้านคนในแอฟริกา ภายในสิ้นทศวรรษนี้ และการขยายบริการด้านสุขภาพให้แก่ 1.5 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งโครงการใหม่ ๆ เหล่านี้ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้สูงถึง 70 พันล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้า (โดยเงินสนับสนุนจาก 11 ประเทศ จำนวน 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์