ฮังการีให้ความสําคัญกับพลังงานแสงอาทิตย์เนื่องจากตรงกับนโยบาย Green Deal ซึ่งฮังการีต้องลดการผลิตคาร์บอน และ ฮังการีมีทรัพยากรพลังงานดั้งเดิมน้อย และ ประสงค์ให้มีอธิปไตยด้านพลังงาน (Energy Sovereignty)
โดยยุทธศาสตร์การส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ของฮังการียึดตามหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) สะอาด เพื่อเพิ่มอัตราส่วนการผลิตพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ําหรือไม่ปล่อยคาร์บอนเลย (2) สมาร์ท โดยใช้เทคโนโลยีล่าสุดและส่งเสริมการวิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ และ (3) มีราคาที่จับต้องได้ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจฮังการี
การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในฮังการีเริ่มมีพัฒนาการอย่างมีนัยยะสําคัญตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลและการลงทุนจากภาคเอกชน และมีพัฒนาการเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566-2567 ศักยภาพการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของฮังการีเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 ทําให้ปัจจุบันฮังการีผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 7000 MW คิดเป็นร้อยละ 25 ของการผลิตพลังงานในฮังการีทั้งหมด
โดยศักยภาพการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของฮังการีในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนสําคัญจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันมีกําลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอสําหรับการใช้ไฟฟ้าร้อยละ 6.5 ของฮังการี นอกจากนี้ เป็นการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Park) โดยมีโรงไฟฟ้าที่สําคัญ ได้แก่ Mezócsát (ภาคตะวันออกของฮังการี กําลังการผลิต 250 MW) Kaposvar (ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฮังการี กําลังการผลิต 100 MW) และ Kiskunhalas Naboo (ภาคใต้ของฮังการี กําลังการผลิต 48 MW)
ฮังการีได้รับการสนับสนุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์จากอียู โดยฮังการีมีสิทธิขอรับการสนับสนุนจากหลายโครงการของอียู อาทิ Horizon Europe, Clean Energy for All Europeans, Renewable Energy Financing Mechanism และ Just Transition Fund อย่างไรก็ดี โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างฮังการีกับอียูในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างตึงเครียด ทําให้ฮังการีเริ่มแสวงหาความร่วมมือกับประเทศนอกสหภาพยุโรป (โดยเฉพาะจีน) เพื่อจัดหาเทคโนโลยีพลังงาน แสงอาทิตย์ และเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของฮังการีในกรณีที่อียูยับยั้งการให้เงินสนับสนุนฮังการีภายใต้โครงการต่าง ๆ ของอียู
นอกจากนั้น ฮังการียังนําเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ อาทิ แผงโซลาร์สองด้าน (bifacial solar panel) โดยด้านหน้ารับแสงจากดวงอาทิตย์และด้านหลังรับแสงที่สะท้อนจากพื้นดิน ซึ่งสามารถเพิ่มกําลังการผลิตได้ ถึงร้อยละ 30 นอกจากนี้ ฮังการีอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชนิดของดินและสีของพื้นดิน รวมทั้งวัสดุสะท้อนแสงที่จะช่วยส่งเสริมแผงโซลาร์สองด้าน รวมทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดลองแผงโซลาร์แบบ Heterojunction Solar Cell (HJT) ซึ่งเป็นแผงโซลาร์ที่ผลิตจากซิลิกอนและใช้เทคโนโลยี Thin Film ในการผลิต ซึ่งสามารถเพิ่มศักยภาพ อีกทั้งยังพัฒนาระบบการจ่ายไฟฟ้าและ Grid ให้เป็นระบบดิจิทัล เพื่อให้สอดรับกับศักยภาพการผลิต ไฟฟ้าโดยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีการผลิตจากทั้งโรงไฟฟ้าแบบ Solar Park ขนาดใหญ่ และการผลิตจากโรงไฟฟ้าระดับครัวเรือน รวมทั้งมีกําลังการผลิตที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์