กระทรวงการต่างประเทศฮังการี ได้เผยแพร่รายงานหัวข้อ Dynamics of the ASEAN-China Economic Relations in the COVID Era โดยสาระสำคัญระบุว่า ฮังการีให้ความสนใจในภูมิภาคอาเซียนด้วยการที่อาเซียนกลายเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของจีน และการค้าอาเซียน-จีนเติบโตมากกว่าภูมิภาคอื่น โดยเห็นว่าการค้าอาเซียน-จีนเป็นทั้งการค้าและตลาดที่มีพลวัตสูงและสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วมากกว่าประเทศและภูมิภาคอื่น ๆ ขณะที่การค้าโลกลดลง 5.3 % ในปี 2563 มูลค่าการค้าอาเซียน-จีนเพิ่มขึ้น 1.8 % แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าอาเซียน-จีนได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 น้อยกว่าประเทศอื่น และเห็นได้จากการขาดดุลการค้าของอาเซียนต่อจีนที่ลดลงและการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของจีนในการนําเข้าและส่งออกของอาเซียน อีกทั้งช่วงวิกฤตโควิดแพร่ระบาดหนักได้เพิ่มความต้องการด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลในอาเซียน ซึ่งเอื้อต่อการขยายตัวของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน และอาเซียนยังมุ่งหวังพึ่งพาจีนเป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้เหมือนช่วงก่อนโควิด
.
อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในช่วงก่อนโควิดและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนด้วยตำแหน่งที่ตั้งและเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค และจีนได้ขยายอิทธิพลผ่านยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งตอบสนองความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคด้วยศักยภาพด้านเศรษฐกิจออนไลน์ดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนําของจีน เช่น Alibaba Tencent และ JD.com เข้ามาในอาเซียน ซึ่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีนดังกล่าวเป็นโอกาสสร้างการลงทุนอาเซียน-จีน
.
โดยในปี 2563 การลงทุนต่างประเทศในอาเซียนจากประเทศที่สาม นอกเหนือจากจีนลดลง 24.5 % แต่การลงทุนจากจีนในอาเซียนลดลงเพียง 15.1 % รวมถึงการที่อาเซียนเป็นตลาดดิจิทัลที่มีศักยภาพ มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 400 ล้านคนและเป็นที่สนใจของบริษัทจีน และการขยายตัวของบริษัทเทคโนโลยีของจีนในอาเซียนในปี 2563-2564 มาจากปัจจัยสำคัญหลายประการ เช่น โควิด-19 เป็นตัวเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและอาเซียนมีศักยภาพสูงในการรองรับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนํากอปรกับบริษัทจีนเผชิญความยากลําบากในตลาดตะวันตกจากอุปสรรคด้านความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ส่งผลให้พันธมิตรของสหรัฐฯ จึงให้ความสำคัญเข้ามาลงทุนในอาเซียนด้วย
.
จากรายงานของ ADB อาเซียนต้องการการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2.76 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความยากจน และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤติโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ถดถอยอาจเพิ่มโอกาสกับดักหนี้ แต่ละประเทศต้องระมัดระวังและเลือกโครงการที่เป็นไปได้ และเป็นการสร้างรายได้แก่ประเทศชาติอย่างแท้จริง รวมถึงรายงานของสถาบัน ISEAS Yusof Ishak ระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นภูมิภาคสำคัญของ BRI เนื่องจากความถดถอยของเศรษฐกิจตะวันตกและความตึงเครียดจากภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ความใกล้ชิดด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจกับจีนทำให้ง่ายต่อการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในช่วงวิกฤติ โดยการเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของจีน เช่น ไทยและจีนได้ลงนามความตกลงโครงการรถไฟไทย-จีนเมื่อปี 2563 ซึ่งได้เริ่มโครงการในระยะที่ 1 เรียบร้อยแล้วและคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2569
.
จากข้อมูลข้างต้น การที่อาเซียนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของจีน ทำให้ภูมิภาคอาเซียนมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นภาคเอกชนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มในอาเซียน รวมถึงการค้าและการลงทุนกับจีนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจไทยร่วมกับฮังการีสู่การเป็นคู่ค้าและตลาดของฮังการี ควบคู่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยและอาเซียนในเชิงลึกกับภาคเอกชนฮังการี ดังนั้นภาคเอกชนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกอาเซียนที่เป็นทั้งคู่ค้าที่สำคัญและตลาดของจีน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจไทยร่วมกับฮังการีให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมในหลายมิติ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล การค้าแบบ E-commerce และเกษตรกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมการค้าและเศรษฐกิจของไทยร่วมกับฮังการีอย่างยั่งยืน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์