สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ ได้รายงานข้อมูลสรุปภาวะการค้าระหว่างไทย – ฮังการี ในช่วง มกราคม – เมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังฮังการี 5 อันดับแรก ได้แก่
.
(1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่าการส่งออก 32.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 81.64 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
(2) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 28.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.45
(3) แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า มูลค่า 21.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 88.21
(4) วงจรพิมพ์ มูลค่า 13.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.02
(5) ก๊อก วาวล์และส่วนประกอบ มูลค่า 12.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 23.22
.
สำหรับยอดรวมสินค้าไทยที่ส่งออกมายังฮังการีช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2564 มีแนวโน้มลดลง แต่สินค้า อุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องจักรกล ยังคงส่งออกได้ดี สินค้าในพิกัดศุลกากร 84 (เครื่องปฏิกรณ์ นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กล และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว) 85 (เครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ ไฟฟ้า และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว เครื่องบันทึกและเครื่องถอดภาพและเสียงทางโทรทัศน์ รวมทั้งส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องดังกล่าว) และ 87 (รถแทรกเตอร์) ครองส่วนแบ่งการส่งออกที่ร้อยละ 17.17 ร้อยละ 14.96 และร้อยละ 12.98 ตามลําดับ เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นร้อยละ 45.11
.
ด้านสินค้าเกษตรกรรม ยางพาราและข้าวเป็นสินค้าส่งออกสําคัญของไทยไปฮังการี ครองส่วนแบ่งการส่งออกที่ร้อยละ 3.35 และ 0.05 ตามลําดับ และมีมูลค่าการส่งออก 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ ตามลําดับ ทั้งนี้ การส่งออกยางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.27 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่ ไทยส่งออกข้าวน้อยลงร้อยละ 29.04
.
หมวดสินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องวิดีโอ เครื่องเสียง อุปกรณ์และส่วนประกอบ
.
(มูลค่า 7 แสนดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 669,000) เม็ดพลาสติก (มูลค่า 4 แสนดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 956.22) ส่วนประกอบที่ใช้กับมอเตอร์ไฟฟ้า (มูลค่า 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 410.98) เครื่องกําเนิด เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่า 3.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 214.67) และ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (มูลค่า 10.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 183.32)
.
จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าตลาดฮังการีได้กลายเป็นแหล่งกระจายสินค้าของไทย พร้อมทั้งยังเป็นตลาดที่เพิ่มมูลค่าการค้าให้มีแนวโน้มที่เป็นบวกมากขึ้น แม้ไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ก็ตาม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถนำข้อมูลการรายงานผลการค้าระหว่างไทย – ฮังการี มาประกอบการตัดสินใจในการส่งออกสินค้าทั้ง 5 อันดับข้างต้น หรือศึกษาข้อมูลความต้องการในสินค้าอื่นๆ ของชาวฮังการีเพิ่มเติมเพื่อให้แนวโน้มการค้าไทยและฮังการีเติบโตอย่างต่อเนื่อง
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์