การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกกว่า 130,000 คน และเสียชีวิตกว่า 4,900 คน (สถานะ ณ วันที่ 13 มีนาคม 2563) ซึ่งยังคงเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน โดยไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด และเป็นวิกฤตการณ์ที่ทุกประเทศกำลังเร่งหาแนวทางแก้ไขบรรเทาอย่างสุดกำลัง ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นสำคัญเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวตั้งแต่ต้นน้ำ คือการเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลการตรวจหาไวรัสฯ ด้วยกระบวนการที่รวดเร็วและแม่นยำ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อฯ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา คณะแพทย์ต้อง ใช้เวลา 1.30 ชั่วโมงถึง 3 ชั่วโมง ในการตรวจวินิจฉัย รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่ยังขนย้ายไม่สะดวก ความท้าทาย ดังกล่าวจึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องแข่งขันกับเวลาเพื่อพัฒนาและคิดค้นวิจัยอุปกรณ์ ที่ทันสมัยเพื่อขจัดปัญหาเหล่านี้
[su_spacer]
ศาสตราจารย์เหวิน เวยเจีย อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ และคณะวิจัย ของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง ได้ร่วมกันทุ่มเทพัฒนาเครื่องตรวจไวรัสโควิด-19 แบบพกพา ที่ใช้เวลาตรวจและทราบผลภายในเวลาเพียง 40 นาที ซึ่งเร็วที่สุดในโลกในขณะนี้ โดยศาสตราจารย์เหวิน กล่าวว่า “ผมหวังว่าความรู้ความสามารถที่ผมมีจะมีส่วนทำประโยชน์ให้สามารถช่วยเพื่อนมนุษย์ผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกันได้” ทั้งนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจจากการประมวลศึกษาและข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์ศาสตราจารย์เหวิน และทีมงานบริษัท Shenzhen Shineway Hi-Tech Co., Ltd เป็นการเฉพาะ ซึ่งนำมาสรุปเป็นข้อมูลในบทความนี้
[su_spacer]
เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์เหวิน และคณะวิจัยฯ ได้เริ่มพัฒนาอุปกรณ์ตรวจไวรัส โควิด-19 หลังจากตรวจสอบลักษณะพันธุกรรมของไวรัสฯ โดยความพิเศษของอุปกรณ์ชนิดนี้คือการใช้เวลาในการตรวจไวรัสฯ เพียง 40 นาที ด้วยการใช้เทคโนโลยี ชิปไมโครฟลูอิดิกส์ (Microfluidics) ที่ผสมผสานกับกระบวนการสังเคราะห์ชิ้นส่วนพันธุกรรม (Polymerase Chain Reaction) และใช้ประโยชน์จากแผ่นไมโครฮีตเตอร์ เพื่อเป็นตัวกลางในการเพิ่มอุณหภูมิ เนื่องจากแผ่นไมโครฮีตเตอร์มีคุณสมบัติที่ดีกว่าสารกึ่งตัวนำเพราะมีคุณสมบัติในการนำความร้อนได้ดีและรวดเร็วกว่า ซึ่งเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจไวรัสก็จะน้อยลง อีกทั้งอุปกรณ์ดังกล่าว มีน้ำหนักเบาและกะทัดรัด ด้วยความยาว 33 ซม. กว้าง 32 ซม. และสูง 16 ซม. จึงเหมาะสำหรับการใช้งานนอกสถานที่ โดยเฉพาะสถานที่ที่ต้องใช้ความสะดวกรวดเร็วในการติดตั้งและมีพื้นที่จำกัด เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค การตรวจสอบการเข้าออกของแผนกกักกัน และสถานพยาบาลผู้สูงอายุ เป็นต้น
[su_spacer]
นอกจากนี้ เครื่องตรวจเชื้อไวรัสฯ ดังกล่าวสามารถทดสอบตัวอย่างได้สูงสุด 8 ตัวอย่างในเวลาเดียวกัน พร้อมกับให้ความแม่นยำถึงร้อยละ 99 ซึ่งศาสตราจารย์เหวิน ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้กำลังพัฒนาเครื่องตรวจเชื้อไวรัสฯ ให้ สามารถรองรับตัวอย่างได้มากขึ้น ทั้งนี้ เครื่องตรวจเชื้อไวรัสฯ ดังกล่าวไม่เพียงตรวจเชื้อไวรัส โควิด-19 เท่านั้น แต่ยังสามารถตรวจเชื้อไวรัสจำพวกไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สุกร และเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้อีกด้วย เมื่อทีมวิจัยได้ดำเนินการทดสอบและมั่นใจในศักยภาพของเครื่องแล้ว จึงได้จัดส่งเครื่องตรวจไวรัสฯ ดังกล่าวเพื่อทดลองใช้ ให้แก่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Center For Disease Control and Prevention) มณฑลหูเป่ย์ และให้แก่เมืองเชินเจิ้น เมืองกว่างโจว ในมณฑลกวางตุ้ง รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการจุลชีววิทยาสาธารณสุขฮ่องกง (Microbiology Division, Public Health Laboratory Centre) ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
[su_spacer]
ศาสตราจารย์เหวิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้ดำเนินการจัดจำหน่ายเครื่องตรวจไวรัสดังกล่าว ผ่านบริษัท Shenzhen Shineway Hi-Tech Co., Ltd เมืองเชินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นบริษัทที่ศาสตราจารย์เหวิน และ ดร. เกา อีโป๋ หนึ่งในผู้วิจัยได้จัดตั้งขึ้นโดยเครื่องตรวจไวรัสฯ นี้ได้รับใบรับรองมาตรฐานสหภาพยุโรป และได้รับใบอนุญาตสิทธิในการจำหน่ายในสหภาพยุโรป ซึ่งขณะนี้ได้มีการสั่งซื้อจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนานาประเทศ ทั่วโลก ทั้งในทวีปเอเชีย อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง มาเลเซีย ตะวันออกกลาง อาทิ อิหร่าน อิสราเอล ทวีปยุโรป อาทิ อิตาลี และทวีปแอฟริกา อาทิ คองโก ตลอดจนได้รับการติดต่อจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ซึ่งแสดงความสนใจสั่งซื้อเครื่องตรวจไวรัสโควิด-19 ดังกล่าวด้วย
[su_spacer]