เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2567 นาง Rosanna Law รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม การกีฬา และการท่องเที่ยวของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้ประกาศแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 2.0 (Development Blueprint for Hong Kong’s Tourism Industry 2.0) ซึ่งจะครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2568 – 2572) โดยมีสาระสําคัญ ดังนี้
(1) แผนการพัฒนาฯ ครอบคลุมใจความสําคัญ 3 ประการ ได้แก่
- (1.1) ฮ่องกงเป็นเมืองสําหรับนักท่องเที่ยวนานาชาติภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง ดังนั้น รัฐบาลฮ่องกงจะต้องใช้ประโยชน์จากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของฮ่องกงให้ก้าวหน้าในทุกมิติ
- (1.2) ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของฮ่องกง โดยยกระดับมาตรฐานการต้อนรับและการบริการ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับมาฮ่องกงอีก
- (1.3) ฮ่องกงมีข้อได้เปรียบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้านการท่องเที่ยว เช่น แหล่งท่องเที่ยวสําคัญที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาหารท้องถิ่น และระบบคมนาคมที่สะดวก ซึ่งทุกภาคส่วนควรใช้ประโยชน์จากจุดแข็งเหล่านี้ และขยายโอกาสใหม่ ๆ ด้านการท่องเที่ยวผ่านการใช้ soft power ของฮ่องกง เช่น การจัดเทศกาลและการประชุมขนาดใหญ่ เพื่อดึงดูดและสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลฮ่องกงคาดหวังว่าในห้วงระยะเวลา 5 ปี นับจากประกาศใช้แผนการพัฒนาดังกล่าว (ปี 2572) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะสร้างรายได้คิดเป็นร้อยละ 5 ของ GDP (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในปี 2567) หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง (เพิ่มขึ้นจาก 7.5 หมื่นล้านในปี 2567) และคาดว่าจะมีการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 210,000 คน (จากเดิม 145,600 คนในปี 2567)
(2) แผนการพัฒนาดังกล่าวมุ่งกําหนดสถานะของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของฮ่องกง ดังนี้
- (2.1) ยกระดับบทบาทของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ
- (2.2) มุ่งเน้นการส่งเสริมเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของฮ่องกงที่ไม่เหมือนชาติใดในโลกผ่านการท่องเที่ยว และใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกของฮ่องกง
- (2.3) ส่งเสริมสถานะของฮ่องกงในการเป็นเมืองที่มีมาตรฐานสูงด้านการท่องเที่ยว
- (2.4) ย้ําความสําคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพื่อให้ฮ่องกงเป็น ต้นแบบด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ รัฐบาลฮ่องกงได้กําหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาฯ 4 ประการ ประกอบด้วย (1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์โดยมีคุณลักษณะของท้องถิ่นและนานาชาติโดยให้ ความสําคัญกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การกีฬา การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการจัดงานมหกรรม (2) การดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงจากทุกภูมิภาคทั่วโลก (3) การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้าง Smart Tourism ที่สะดวกและมีคุณภาพ และ (4) การยกระดับคุณภาพการบริการและการดึงดูดแรงงานภาคบริการคุณภาพสูง
จากข้างต้น สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ให้ข้อสังเกตว่า
- (1) แผนพัฒนาดังกล่าวเป็นแผนต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฉบับที่ 1 ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2560 ซึ่งหลายภาคส่วนมองว่าล้าสมัยและไม่สามารถรับมือกับความท้าทายในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19
- (2) จากที่สถานการณ์โควิด-19 และเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงในปี 2562 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของฮ่องกง ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศลดลง และนักท่องเที่ยวจากจีนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวจากจีน มีแนวโน้มลดลงอันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของจีนเองที่ชะลอตัว และพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เน้นการเยี่ยมชมเมืองและถ่ายรูปแต่ไม่ใช้จ่ายและไม่ค้างแรมในฮ่องกง
- (3) นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าความท้าทายสําคัญของแผนพัฒนาดังกล่าว คือ ราคาสินค้าในฮ่องกงที่สูง (แม้จะไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม) อันเป็นผลมาจากอัตราค่าเช่าและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายน้อยลงและพํานักเพียงระยะสั้น อีกทั้งนโยบายของจีนที่ยกเว้นการตรวจลงตราให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากขึ้น อาจทําให้นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางไปจีนเป็นเป้าหมายหลัก และฮ่องกงเป็นเพียงเป้าหมายรอง ทั้งนี้ ทางสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับแจ้งว่า รัฐบาลฮ่องกงได้เริ่มเก็บภาษีโรงแรม (Hotel Accommodation Tax) จากนักท่องเที่ยวในอัตราร้อยละ 3 และเก็บค่าธรรมเนียมสนามบิน (Passenger Security Charge) เพิ่มเป็น 65 ดอลลาร์ฮ่องกง (จากเดิม 55 ดอลลาร์ฮ่องกง) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ซึ่งจะส่งผลให้ค่าที่พักและค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้น
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์