เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Harnessing Investment Treaties for Climate Action: Thailand’s Next Steps” ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการสัมนาออนไลน์เรื่อง
“ Fostering Climate Action through Investment Treaties” ที่จัดร่วมกับ OECD และ UNCTAD
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มุ่งส่งเสริมความเข้าใจและหารือเชิงลึกระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการใช้ความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศในการส่งเสริมการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate action) ในบริบทของไทย และเป็นส่วนหนึ่งของ MFA Talk Series: “Investment Treaty in Action” ซึ่งกรมเศรษฐกิจฯ
ได้ริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะอื่น ๆ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศกว่า 21 หน่วยงาน โดยมีวิทยากร 3 คน ได้แก่ (1) คุณกฤตยาชุณหวิริยะกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรการและกลไก
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE) (2) ผศ. ดร. Stefanie Schacherer, Singapore Management University (SMU) และ (3) ผศ. ดร.ธิดารัตน์ ศิลปภิรมย์สุข คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจฯ เป็นประธาน พร้อมด้วยนางสาลินี ผลประไพ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจฯ เข้าร่วมด้วย
อธิบดีกรมเศรษฐกิจฯ ได้กล่าวเปิดโดยเน้นย้ำนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยที่มุ่งส่งเสริม
ความยั่งยืน อาทิ การกำหนดเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นวาระสำคัญ
ในการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยเมื่อปี 2565 รวมถึงความสำคัญของการใช้ความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศ
เป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้าน climate action เพื่อให้เกิดความสอดคล้องระหว่างการดำเนินนโยบายด้านการลงทุนและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คุณกฤตยาฯ ได้นำเสนอวิสัยทัศน์และการดำเนินการของไทยในเรื่องของการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยตั้งเป้าที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2608 โดยมีแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2558-2593 ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
(1) การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และ (3) การสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการใช้เครื่องมือ 6 ด้าน คือ
- ด้านนโยบาย เช่น แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ 2564-2573
- ด้านเงินทุนและการลงทุน เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุน การจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุน
การดำเนินการด้าน climate action - ด้านการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการดักจับและกักเก็บคาร์บอน
- ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ อาทิ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- กลไกคาร์บอนเครดิต
- การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงเครือข่ายภาคเอกชนและความร่วมมือระหว่างประเทศ
ผศ. ดร. Stefanie Schacherer และ ผศ. ดร.ธิดารัตน์ ศิลปภิรมย์สุข ได้ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของ
การคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศ กับการดำเนินมาตรการของรัฐในด้าน climate action รวมถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมของภาครัฐในเรื่องดังกล่าว สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้
- การดำเนินมาตรการของรัฐอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (ISDS) โดยที่ผ่านมา มีคดี ISDS ที่เกี่ยวกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมประมาณ 175 คดี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ เช่น การยกเลิกเงินอุดหนุนหรือการเก็บภาษีเชื้อเพลิงฟอสซิล การปฏิเสธใบอนุญาตในกิจการถ่านหิน ก๊าซ หรือทรัพยากรปิโตรเลียม การเพิกถอนสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนในพลังงานสะอาด และการกำหนดมาตรฐานเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือด้านสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อการลงทุน
- ขณะเดียวกัน รัฐสามารถใช้ความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริม climate action เช่น โดยการมีข้อบทที่ให้ความคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกแก่การลงทุนด้านพลังงานสะอาด การโอนถ่ายเทคโนโลยี และการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ
- รัฐสามารถเตรียมความพร้อมได้โดยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับความเชื่อมโยงของความตกลงฯ ต่อการดำเนินมาตรการของรัฐ ทั้งในแง่การใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดข้อพิพาท และการรับมือกับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการเตรียม
ความพร้อมในการสู้คดี
ในระยะยาว อาจพิจารณาปรับปรุงความตกลงฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่เชิงนโยบายในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การจำกัด
การคุ้มครองเฉพาะการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การกำหนดพันธกรณีสำหรับนักลงทุน หรือการกำหนดข้อยกเว้นไม่ให้ฟ้องร้องเกี่ยวกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้กลไก ISDS รวมถึงการพิจารณาเพิ่มเครื่องมือสำหรับภาครัฐ เช่น กำหนดให้มีข้อบทเกี่ยวกับการฟ้องกลับนักลงทุน (counterclaim) ในกรณีที่นักลงทุนละเมิดกฎหมายภายใน หรือการนำตัวแปรด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาคำนวณมูลค่าการลงทุนที่จะใช้เป็นพื้นฐาน
ในการกำหนดค่าชดเชยตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ทั้งนี้ สามารถดูเอกสารการสัมมนาเพิ่มเติมได้ ที่นี่