รัฐบาลกรีซ ได้ให้ความสําคัญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและสร้างความเข็มแข็งทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินที่กรีซประสบมาอย่างยาวนาน ในส่วนของนโยบายต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี Kyriakos Mitsotakis ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า ‘National Strategic for Extroversion 2021’ ดังนี้
.
1. ปฏิรูปการบริหารโครงสร้างราชการ
รัฐบาลกรีซโอนหน่วยงาน Enterprise Greece ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมการลงทุนในกรีซ และ Export Credit Insurance Organisation ซึ่งทําหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการของกรีซ ในการส่งออกสินค้าและบริการไปต่างประเทศมาอยู่ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศกรีซ เพื่อให้เกิดเอกภาพและประสิทธิภาพในการบริหารราชการ และให้สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ของกรีซทั่วโลก สามารถระดมสรรพกําลังในการส่งเสริมการส่งออก และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
.
2. จัดทําแผนยุทธศาสตร์ชาติ National Strategic foe Extroversion 2021
รัฐบาลกรีซกําหนดให้ ‘การทูตเชิงเศรษฐกิจ’ เป็นเป้าหมายสําคัญเร่งด่วนของนโยบายต่างประเทศ และจัดทําแผนยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการกรีซ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการเป็นร้อยละ 48 ของ GDP และการลงทุนจากต่างประเทศเป็นร้อยละ 4 ของ GDP ในปี 2566 ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของ GDP และผลักดันให้กรีซอยู่ใน 20 อันดับแรกของประเทศที่มีคนรู้จัก ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลกรีซได้กําหนดยุทธศาสตร์ไว้ 3 ประการ ประกอบด้วย
.
2.1 ส่งเสริมสถานะทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
(1) ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่ม FDI เป็นร้อยละ 4 ของ GDP ในปี 2566 โดยมีเป้าหมายที่กลุ่มประเทศผู้นําทางเศรษฐกิจของโลก (ยกเว้นเกาหลีใต้) และประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ อิสราเอล อียิปต์ UAE เลบานอน ซาอุดิอาระเบีย
(2) เพิ่มมูลค่าการส่งออกเป็นร้อยละ 48 ของ GDP โดยพัฒนาตลาดเดิมและขยายตลาดใหม่ สินค้า และบริการที่มุ่งส่งเสริม ได้แก่ ยารักษาโรค อลูมิเนียมและทองแดง ธุรกิจด้านการเงิน และการผลิตสื่อภาพยนตร์ ประเทศเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ของโลก ประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน (แอลเบเนีย นอร์ทมาซิโดเนีย คอซอวอ เซอร์เบีย) ประเทศในตะวันออกกลาง (อียิปต์ UAE อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย) บราซิล เม็กซิโก ทั้งนี้ประเทศในเอเชีย นอกจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม เป็นประเทศเป้าหมายด้วย
(3) สนับสนุนโครงการการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค การ recycle และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
(4) ส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านพลังงาน และความมั่นคงทางพลังงาน
(5) พัฒนาความเชื่อมโยงเครือข่ายด้านโลจิสติกส์ และการอํานวยความสะดวกด้านศุลกากร
(6) สนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี
(7) เพิ่มการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาเป็นร้อยละ 0.3 ของ GDP โดยมีเป้าหมายที่ประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน
(8) ทําให้กรีซเป็นประเทศที่มีคนรู้จัก (recognizable Country) มากที่สุด 20 อันดับแรกของโลก จากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 34 ในปี 2562
.
2.2 ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของกรีซให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น
(1) บูรณาการโครงสร้างหน่วยงานด้านการทูตเชิงเศรษฐกิจให้เป็นเอกภาพ
(2) ปรับปรุงโครงสร้างด้านการต่างประเทศ
(3) ประสานการดําเนินการของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ
(4) ส่งเสริมการดําเนินงานของ Enterprise Greece ในการดึงดูดการลงทุน
(5) ลดขั้นตอนในการขอรับการสนับสนุนการส่งออกจาก Export Credit Insurance Organisation
.
2.3 ส่งเสริมสถานะของกรีซในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
(1) ส่งเสริมบทบาทของกรีซในการกําหนดนโยบายทางการค้าของกลุ่มสหภาพยุโรป
(2) สนับสนุนการเจรจาภายใต้กรอบ WTO
.
3. แผนงานที่เกี่ยวข้องกับไทย
3.1 ความสัมพันธ์ทวิภาคี
– เร่งรัดการเจรจาจัดทําความตกลงภาษีซ้อน และด้านการส่งสินค้าทางเรือให้เป็นผลสําเร็จ
3.2 ความสัมพันธ์พหุภาคี
– เร่งรัดการเจรจาความตกลงทางการค้าและการลงทุนระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 7 ประเทศให้ได้ข้อยุติ
3.3 ส่งเสริมการส่งออก
– ดําเนินการเรื่องการให้ไทยอนุญาตนําเข้าผลไม้สดจากกรีซ (ได้แก่ ส้ม ลูก พีช แอปเปิ้ล องุ่น สตรอว์เบอรี่ ลูกพรุน และแอปริคอต) ส่งผู้แทนการค้าเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม Thaifex Anuga Asia ร่วมงานส่งเสริมการท่องเที่ยว และส่งเสริมไวน์จากกรีซ
.
จากแผนยุทธศาสตร์ชาติข้างต้น กรีซและไทยมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงวัฒนธรรม ด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และภาคบริการอื่น ๆ รวมถึงแนวทางด้านเศรษฐกิจ BCG Model โดยภาคการผลิตไทยอาจใช้ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อพิจารณาเป็นแนวทางกําหนดกรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับกรีซทั้งทวิภาคีและพหุภาคี อันจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจไทยในตลาดที่กว้างขึ้น
.
สถานเอคอักรราชทูต ณ กรุงเอเธนส์