มาต่อกันจากความเดิมตอนที่แล้ว เรื่องการลงทุนสีเขียวกับเป้าหมาย Net Zero สามารถอ่านย้อนหลังได้ที่ https://globthailand.com/globinsight-netzero-ep1/ โดยวันนี้ Globthailand จะมาพูดถึง ตอนที่ 2 ในเรื่อง ความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศ : อีกหนึ่งเครื่องมือในการส่งเสริมการลงทุนสีเขียว
โดยจากที่กล่าวไปใน ตอนที่ 1 ด้านนโยบายและมาตรการภายในประเทศที่รัฐบาลใช้ในการดึงดูดและกระตุ้นการลงทุนสีเขียวแล้วนั้น … ความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment Agreement: IIA) ยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือเชิงนโยบายที่สำคัญที่สามารถมีส่วนส่งเสริมการหมุนเวียนของเงินทุน เพื่อใช้ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
รัฐบาลสามารถใช้ความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศช่วยเพิ่มการลงทุนสีเขียวได้ โดยอาจ “เปิดเสรี” โดยกำหนดเงื่อนไขด้านการลงทุนที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการโอนถ่ายเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวของไทย ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการลงทุนโดยการลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตหรือการประสานงานระหว่างหน่วยงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการช่วยขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ในการลงทุน ขณะเดียวกัน ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดมาตรฐาน
เพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)
นอกจากนี้ ความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศยังสามารถเป็นกลไกสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน ในอุตสาหกรรมสีเขียวว่าจะได้รับความคุ้มครองการลงทุนตามมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น การไม่เลือกประติบัติ เมื่อเทียบกับคนชาติและคนชาติที่สาม การคุ้มครองจากการเวนคืน การชดเชยค่าเสียหายจากการเวนคืน การประติบัติ ที่เป็นธรรมต่อการลงทุน การได้รับการชดเชยความเสียหายจากเหตุการณ์รุนแรง การโอนเงินโดยเสรี หรือการเข้าถึงกระบวนการระงับข้อพิพาท เมื่อนักลงทุนมีหลักประกันเหล่านี้ ก็ย่อมมีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน สำหรับนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศก็สามารถเป็น “เครื่องมือช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเมือง” ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการต่าง ๆ ของประเทศผู้รับการลงทุน โดยเฉพาะในบริบทปัจจุบันที่อาจมีการใช้มาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างเข้มข้นที่อาจกระทบต่อการลงทุน เช่น การเพิกถอนสิทธิประโยชน์ การเก็บภาษีเชื้อเพลิงฟอสซิล การปฏิเสธใบอนุญาตในกิจการถ่านหิน ก๊าซ หรือทรัพยากรปิโตรเลียม เป็นต้น เพื่อเป็นหลักประกันว่า รัฐบาลของประเทศผู้รับการลงทุนจะไม่ใช้มาตรการต่าง ๆ ที่กระทบต่อการลงทุนตามอำเภอใจ ไม่เป็นธรรม หรือเลือกประติบัติ
บทสรุป: ความสำคัญของ “การผนึกกำลัง” (synergy) ด้านนโยบายและการดำเนินการของทุกภาคส่วน
การบรรลุเป้าหมาย net zero ของไทยจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และผสานเครื่องมือเชิงนโยบายในทุกด้าน ตั้งแต่นโยบาย กฎหมายภายในประเทศ ไปจนถึงความตกลงระหว่างประเทศ โดยที่การลงทุนเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว ความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้าน climate action ของไทย ที่ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความสอดคล้องกันระหว่างการดำเนินนโยบายด้านการลงทุน และการรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ