ปัจจุบัน ท่าเรือขนส่งรถยนต์และศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติ เขตหนานซา นครกว่างโจว (Nansha Automobile Port of Guangzhou Port and Guangzhou Nansha International Logistics Center) เปิดเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศกว่า 160 เส้นทางทั่วโลก ในจํานวนดังกล่าวเป็นเส้นทางในภูมิภาคเอเชียถึง 100 เส้นทาง อีกทั้งท่าเรือหนานซายังใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการบริหารจัดการท่าเรือและโลจิสติกส์ของจีน หากเจาะลงในรายะเอียดที่เกี่ยวข้องนั้น มีข้อมูลดังนี้
(1) ท่าเทียบเรือขนส่งรถยนต์หนานซา (Guangzhou Port Nansha Automotive Terminal) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเขตใหม่หนานซา (Nansha New Zone) นครกว่างโจว บริหารจัดการโดยกลุ่มบริษัทท่าเรือกว่างโจว (Guangzhou Port Group จํากัด (รัฐวิสาหกิจนครกว่างโจว) เป็นท่าเทียบเรือบรรทุกรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน และเป็นท่าเรือที่นําเข้ารถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน มีท่าเทียบเรือขนาด 10,000 DWT 7 ท่า สามารถส่งออก/นําเข้ารถยนต์กว่า 3 ล้านคันต่อปี มีพื้นที่กว่า 650,000 ตารางเมตร
(2) ศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติหนานซา เป็นคลังสินค้าท่าเรือ (port logistics warehouse complex) ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ประกอบด้วย โซนเหนือ (north zone) เป็นศูนย์กระจายสินค้า และคลังสินค้า โดยให้บริการโลจิสติกส์หลายรูปแบบ เช่น การรวมสินค้าส่งออกพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน และการขนส่งหลายรูปแบบ (ทางราง – ทางเรือ) โดยมีเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจีน – ยุโรป 50 เที่ยวต่อปี อย่างต่อเนื่อง และโซนใต้ (south zone) เป็นคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบแช่เย็น (cold storage) ที่ใหญ่ที่สุดในจีน จุสินค้ากว่า 230,000 ตัน พร้อมให้บริการโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นเป็นส่วนสําคัญที่ทําให้ท่าเรือหนานซาเป็นท่าเรือนําเข้าเชอร์รี่และทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในจีน
การเชื่อมต่อภายในประเทศ
(1) ทางถนน เครือข่ายการขนส่งเส้นทางด่วนที่เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจปากแม่น้ําจูเจียงมี 4 เส้นทาง ได้แก่ ทางด่วนปักกิ่ง-จูไห่ตะวันออก และทางด่วนกว่างโจว-หนานซา เชื่อมกับเกาะหลงลิ่ว (Long Liu) ที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย และเมืองวิทยาศาสตร์ของนครกว่างโจว ทางด่วนสายตะวันออกเชื่อมเมืองกับหุ้ยโจว เซินเจิ้น และตงก่วน ทางด่วนสายตะวันตกเชื่อมกับนครกว่างโจว เมืองฝอซาน เจียงเหมิน จงซาน จ้าวซิ่ง และจูไห่ และทางหลวงเชื่อมกับเมืองฝอซาน (S111) ซุนเตอ (S362) พานหยู (S11) จงซาน (G105)
(2) ทางรถไฟ รถไฟขนส่งสินค้าหนานซา-เหอซาน (เมืองเจียงเหมิน) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ําจูเจียงตะวันตกกับมณฑลอื่น ๆ โดยจะผ่านนครกว่างโจว เมืองฝอซาน จงซาน และเจียงเหมิน รวมระยะทาง 90 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 115 ล้านหยวน
(3) ทางน้ํา มีเรือเล็กขนาดบรรจุ 100 ตัน สําหรับขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือเล็กภายในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งจะลดต้นทุนการขนส่งจากทางบกได้ร้อยละ 6 นอกจากนี้ มีเส้นทางทางทะเลใกล้กับท่าเรือกว่างโจว 21 ไมล์ทะเล ท่าเรือเซินเจิ้น 21 ไมล์ทะเล และท่าเรือฮ่องกง 38 ไมล์ทะเล
จุดเด่นของท่าเรือหนานซา
เป็นท่าเรือน้ําลึกสําคัญของมณฑลกวางตุ้ง ห่างจากนครกว่างโจว 60 กิโลเมตร เรือขนส่งสินค้าใช้เวลาแค่เพียง 3 ชั่วโมง ในการรอเทียบท่า (waiting time) พิธีการศุลกากรและหน่วยงานการตรวจสอบเอกสาร (CIQ) ใช้นโยบาย “one stop” (“one-time declared, one-time inspected, one-time released”) หากเป็นสินค้าทั่วไป สามารถใช้เวลาเพียง 1 วัน ในการดําเนินการผ่านสินค้า
ความร่วมมือกับไทย
(1) ท่าเรือหนานซา เป็นท่าเรือแห่งหนึ่งภายใต้การดูแลของกรมการท่าเรือกว่างโจว ซึ่งการท่าเรือกว่างโจวได้ลงนามข้อตกลง (Sister Port Agreement Between Laem Chabang and Guangzhou Port) กับท่าเรือแหลมฉบังเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558
(2) เมื่อเดือนเมษายน 2565 ท่าเรือหนานซาดําเนินช่องทางพิเศษสําหรับการนําเข้าทุเรียน (Durian Express Line) 3,000 ตัน จากไทยเป็นครั้งแรก โดยผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ใช้ระยะเวลาขนส่งเพียง 4 วัน
(3) ท่าเรือหนานซามีเส้นทางขนส่งสินค้ากับท่าเรือแหลมฉบังเฉลี่ยวันละ 1 – 4 เที่ยว ระยะเวลาขนส่งสินค้า 4-7 วัน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ท่าเรือหนานซาระยะที่ 3 เปิดเส้นทางเดินเรือกับไทย-เวียดนาม โดยเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือหนานซา-ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือกรุงเทพฯ-ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือโฮจิมินห์-ท่าเรือหนานซา
(4) เมื่อเดือนเมษายน 2567 ท่าเรือหนานซานําเข้าทุเรียนไทยกว่า 28,000 ตัน โดยใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน คาดว่าจะมีเรือขนส่งกว่า 15 ลําต่อสัปดาห์
ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจว
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์