พัฒนาการด้านการบริหารจัดการขยะและการรีไซเคิลของฮังการี ซึ่งมีพัฒนาการอย่างมากตั้งแต่ฮังการีเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เพื่อสอดรับกับมาตรฐานและกฎระเบียบของสหภาพยุโรป โดยมีรายละเอียดในส่วนของภาพรวมการบริหารจัดการขยะในฮังการี ดังนี้
ย้อนกลับไปในปี 2564 ฮังการีได้จัดทำแผนการจัดการชยะระดับชาติ (OHT) ปี 2564-2570 โดยมุ่งลดปริมาณขยะและเพิ่มอัตราการรีไซเคิล กำหนดเป้าหมายระยะกลางในการเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียนในยุโรป โดยคำนึงถึง life-cycle ทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ ต่อมาในปี 2565 ฮังการีรีไซเคิลขยะร้อยละ 54 ของขยะทั้งหมด สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่ร้อยละ 49.7 มีขยะอาหารต่อหัวประชากรอยู่ที่ 84 กิโลกรัม (น้อยกว่าฝรั่งเศสและเยอรมนี) มีขยะเทศบาลต่อหัว 59.9 กิโลกรัม ซึ่งทำให้ฮังการีเป็นประเทศที่พัฒนาเร็วที่สุดเป็นอันดับ 8 ในสหภาพยุโรปในด้านนี้
ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ฮังการีได้จัดระบบสัมปทานสำหรับการจัดการขยะ โดยบริษัท MOHU MOL Waste Management Zrt. ได้รับสัมปทาน 35 ปี เพื่อจัดการขยะมูลฝอยในฮังการี ซึ่งทำให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มการรีไซเคิล และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ในอนาคต MOHU ตั้งเป้าหมายไว้ดังนี้ (1) เพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะเทศบาล โดยเพิ่มเป็นร้อยละ 65 ภายในปี 2583 (ปัจจุบันร้อยละ 32) (2) ลงทุนเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการคัดแยกขยะและการประมวลวัสดุ (3) สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้า จากขยะเพื่อกำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลอย่างน้อย 100,000 ตัน ต่อปี (4) ดำเนินการเก็บขยะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากผู้จัดจำหน่ายมากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ และ (5) ลดสัดส่วนขยะที่ถูกส่งไปฝังกลบจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 10 และสร้างหลุมฝังกลบที่ทันสมัยซึ่งมีเทคโนโลยีดักจับก๊าซของเสีย เพื่อนำไปใช้ผลิตพลังงาน
นอกจากนั้นยังมีการใช้นวัตกรรมในการบริหารจัดการขยะในฮังการี ดังนี้ (1) ระบบคืนเงินมัดจำขวด REPONT ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 บริษัท MOHU ได้เริ่มทดลองใช้ระบบคืนเงินมัดจำในฮังการีสำหรับการรีไซเคิลขวดเครื่องดื่ม และเริ่มใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 โดยผู้ซื้อผลิตภัณฑ์เป็นขวดแก้ว PET หรือกระป๋องอลูมิเนียมจะต้องชำระค่ามัดจำ 50 โฟรินท์ ต่อชิ้น (ประมาณ 5 บาท) โดยบรรจุภัณฑ์แต่ละชิ้นจะมีโลโก้คืนเงินมัดจำ ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำไปคืนได้ที่เครื่องรับคืนอัตโนมัติ ซึ่งมีจุดให้บริการมากกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ (2) โรงงานไบโอแก๊ส Szarvas ได้มีการใช้นวัตกรรมการผสมขยะอินทรีย์หลายประเภทและนำไบโอแก๊สที่ได้จากการย่อยสลายขยะอินทรีย์มาใช้ผลิตความร้อนและไฟฟ้าควบคู่กัน รวมทั้งใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดการใช้พลังงานจากแหล่งภายนอก อีกทั้งโรงงานมีการควบคุมด้วยระบบดิจิทัลซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนในการผลิตพลังงาน ในแต่ละปีโรงงานนี้สามารถย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้ปีละ 40,000 ตัน และ (3) การใช้เทคโนโลยี AI บริษัท General Future Holding Zrt. นำ Generative AI มาใช้ในการรีไซเคิล ซึ่งสามารถนำโลหะในขยะกลับมาใช้ใหม่ได้ในอัตราส่วนที่สูงขึ้น รวมทั้งทำการคัดแยกคุณภาพของโลหะที่รีไซเคิล โดยเทคโนโลยีของบริษัทฯ ทำให้สามารถรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงบริษัท GreenTech Innovation ใช้ AI จะคอยควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และระดับออกซิเจน เพื่อให้เกิดการย่อยสลายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์