กระทรวงแรงงาน ผู้ทุพพลภาพ และสวัสดิการสังคมเวียดนามเปิดเผยว่า ในห้วงปี 2568 – 2573 ตลาดแรงงานเวียดนามจะเริ่มปรับตัวเข้าสู่ความต้องการแรงงานที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยจากการสำรวจความต้องการของบริษัทต่าง ๆ พบว่า ร้อยละ 21 ต้องการแรงงานที่ผ่านการศึกษาระดับอาชีวศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 28 ต้องการแรงงานที่ผ่านการศึกษาระดับอาชีวศึกษาขั้นกลาง ร้อยละ 16 ต้องการแรงงานที่ผ่านการศึกษาระดับวิทยาลัย และร้อยละ 18 ต้องการแรงงานที่ผ่านการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า
โดยแรงงานที่สำเร็จการศึกษาด้านเทคนิคและเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่มีความต้องการของตลาดมากที่สุด (ร้อยละ 35) รองลงมาเป็นกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาทางด้านการเงิน การธนาคาร การบริหาร และกฎหมาย (ร้อยละ 33) กลุ่มที่สำเร็จการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 7) และกลุ่มอื่น ๆ (ร้อยละ 25)
ทั้งนี้ ตลาดแรงงานเวียดนามโดยเฉพาะเมืองใหญ่กำลังขาดแคลนแรงงานคุณภาพสูงที่มีวุฒิการศึกษาและมีทักษะเฉพาะเชิงปฏิบัติ ผลิตภาพแรงงานยังไม่มีประสิทธิผลสูง โดยตลาดมีแนวโน้มต้องการแรงงานที่มีคุณภาพสูงด้วยการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และ AI แทนแรงงานคน
อาชีพยอดนิยมในเวียดนามในปี 2568 – 2573
ในยุคดิจิทัลที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ธุรกิจต่างมองหาผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะหลากหลายและสามารถปรับตัวได้เก่งในอาชีพ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเวียดนาม (ThaiBiz Vietnam) และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ขอแนะนำ 12 อาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเวียดนามในปี 2568 – 2573 ได้แก่
(1) อาชีพด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) รัฐบาลเวียดนามนีนโยบายสนับสนุนเทคโนโลยีทันสมัยและสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในสาขาปัญญาประดิษฐ์/ Machine Learning/ Cloud โดยรายงานของบริษัท Indeed เปิดเผยว่า เวียดนามมีการรับสมัครอาชีพด้าน AI และเทคโนโลยีทันสมัยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 ในห้วง 4 ปีที่ผ่านมา และ Machine Learning Engineer เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีบริษัทต้องการตัวมากที่สุดในตลาดแรงงานเวียดนาม
(2) อาชีพด้านชิปและเซมิคอนดักเตอร์ ในห้วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเวียดนามได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักลงทุนชั้นนำด้านเซมิคอนดักเตอร์ของโลก เช่น Nvidia, Intel, IBM ทั้งนี้ ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพในการทำงานขั้นสูง โดยปัจจุบัน เวียดนามมีวิศวกรจำนวนประมาณ 6,000 คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั้งในและต่างประเทศ โดยในปี 2573 เวียดนามตั้งเป้าที่จะฝึกอบรมวิศวกรที่มีคุณภาพสูงให้ได้จำนวน 50,000 คน โดยให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมการออกแบบวงจรรวม (IC Fabrication) นอกจากนั้น เวียดนามกำลังสร้างแผนกลยุทธ์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พร้อมกลไกจูงใจที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดภาคธุรกิจชั้นนำของโลกเข้ามาผลิต ออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิปเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม ซึ่งก่อนหน้านี้ เวียดนามได้อนุมัติยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เวียดนามจนถึงปี 2573 วิสัยทัศน์ปี 2593 (Vietnam’s Semiconductor Development Strategy through 2030, vision to 2050) โดยตั้งเป้าให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์ของโลกที่ได้เปรียบในการออกแบบบรรจุภัณฑ์และการทดสอบชิป
(3) นักพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นผู้ที่ออกแบบ พัฒนา และดูแลรักษาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ตั้งแต่แอปพลิเคชันบนมือถือ เว็บไซต์ ไปจนถึงระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ โดยปัจจุบัน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ของเวียดนามมีเงินเดือนเฉลี่ยเริ่มต้นที่ประมาณ 13.4 – 16.1 ล้านดอง/เดือน (ประมาณ 18,212 – 21,881 บาท/เดือน) ซึ่งเป็นเงินเดือนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูงมาก
(4) อาชีพสายสุขภาพจิต ด้วยการพัฒนาของสังคม ปัญหาทางจิตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพจิตของผู้คนและคุณภาพชีวิต ดังนั้น แม้สายสุขภาพจิตจะเป็นสาขาที่ค่อนข้างใหม่ในเวียดนาม แต่ก็ได้รับความสนใจจากนักศึกษาจำนวนมาก นอกจากนี้ อาชีพสายสุขภาพจิตเป็นอาชีพที่หุ่นยนต์ไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้ โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2573 อัตราการเติบโตของตลาดสุขภาพจิตจะอยู่ที่ร้อยละ 22 โดยบริการหลัก ๆ จะอยู่ที่การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้สารเสพติด ความผิดปกติทางพฤติกรรมวิตกกังวล และการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต
(5) อาชีพด้านการแพทย์และสุขภาพ นอกจากการขยายสถานพยาบาลเพื่อรองรับประชาชนแล้ว กลุ่มอาชีพสำหรับสายงานแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด หรือบริการด้านสุขภาพ เป็นที่ต้องการสูงในตลาดงาน ปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะ healthcare และ facial care ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ
(6) นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติเวียดนามพบว่า ในห้วงปี 2557 – 2567 ความต้องการทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยข้อมูลตลาด รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 19/ปี ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่จะหยุดความต้องการของตลาดแรงงานในสายงานนี้
(7) อาชีพด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) ถือเป็นอีกหนึ่งสายงานในด้านเทคโนโลยีที่มีโอกาสเติบโตและเป็นที่ต้องการสูงในตลาดแรงงาน และเป็นอาชีพที่มีแรงงานในท้องตลาดจำนวนน้อย จากการสำรวจล่าสุด เงินเดือนในสายงาน Cyber Security โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 30 – 60 ล้านดอง/เดือน (ประมาณ 40,773 – 81,546 บาท/เดือน) ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และลักษณะงาน สำหรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงหรือผู้เชี่ยวชาญ เงินเดือนอยู่ที่ 100 ล้านดองเป็นต้นไป (ประมาณ 135,911 บาท/เดือน)
(8) อาชีพด้านพลังงานสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นงานในภาคอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม (การผลิตและการก่อสร้าง) หรือในภาคอุตสาหกรรมสีเขียวที่เกิดขึ้นใหม่ (พลังงานหมุนเวียน) ที่จะมีลักษณะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานและวัตถุดิบ จำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดของเสียและมลพิษให้เหลือน้อยที่สุด ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งสนับสนุนการปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงทำให้อาชีพด้านพลังงานสีเขียวกำลังกลายเป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมเวียดนาม
(9) อาชีพด้าน Fintech ปัจจุบัน Fintech เป็นที่ต้องการสูงในหลายอุตสาหกรรม เช่น ธนาคาร การประกันภัย การลงทุน และการค้าปลีก เนื่องจากเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบายของการดำเนินธุรกิจภายในเวียดนามที่กำลังเข้าสู่ยุค Digital Transformation
(10) อาชีพด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบเมืองอัจฉริยะ ด้วยการพัฒนาของดิจิทัลยุค 4.0 เมืองอัจฉริยะกำลังกลายเป็นกระแสพัฒนาระดับโลก ทำให้เกิดโอกาสในการทำงานใหม่ ๆ มากมาย ด้วยความก้าวหน้าของการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ความต้องการการออกแบบและการก่อสร้างเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
(11) อาชีพด้าน Digital Marketing เป็นสายงานที่เติบโตอย่างรวดเร็วและเปิดกว้างในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มออนไลน์ การตลาดดิจิทัลจึงกลายเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความต้องการสูง โดยเฉพาะในยุคที่ธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์เพื่อแข่งขันในตลาดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
(12) อาชีพด้าน Logistics การเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซและความต้องการการจัดส่งที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพทั่วโลกกำลังสร้างโอกาสในการทำงานจำนวนมากในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง การจัดเก็บ และขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดและลดต้นทุนโดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงบริบทที่เวียดนามเป็นตลาดที่ใกล้ชิดกับจีนและสหรัฐฯ ทั้งนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาโลจิสติกส์แห่งชาติเวียดนาม คาดว่าภายในปี 2573 เวียดนามต้องการแรงงานเพิ่มเติม 2.2 ล้านคนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดยร้อยละ 10 ต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพสูงและมีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ
ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเวียดนาม/ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์