‘เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน’ (Sustainable Aviation Fuel: SAF) หรือ ‘เชื้อเพลิงจากวัตถุดิบชีวมวล’ เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบัน เนื่องจากความสามารถในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากถึง 80% ตลอดห่วงโซ่ของเชื้อเพลิงเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อีกทั้ง SAF สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงอากาศยานได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงเครื่องยนต์ โดยการนำ SAF ไปผสมกับเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิล ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการผสมเอทานอลเข้าไปในน้ำมันเบนซิน หรือการผสมไบโอดีเซลเข้ากับน้ำมันดีเซล
‘SAF’ เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจากวัตถุดิบชีวมวลที่มีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกับน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต SAF ได้แก่ น้ำมันทำอาหารใช้แล้ว ไขมันจากสัตว์ ของเสียจากการเกษตร และขยะเทศบาล เช่น บรรจุภัณฑ์ และเศษอาหาร
ทั้งนี้ หน่วยงานระหว่างประเทศ อาทิ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ยังได้ออกมาสนับสนุนให้มีการทดแทนเชื้อเพลิงอากาศยานที่ผลิตจากฟอสซิลด้วยการใช้ SAF ในสัดส่วนที่เหมาะสมภายในปี 2593 อีกทั้งหลายประเทศทั่วโลกเล็งเห็นว่า SAF จะเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่มาแทนที่เชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้ในอนาคตอีกด้วย
โดยประเทศที่ได้มีการศึกษาวิจัย และนำ SAF มาใช้ในอุตสาหกรรมการบินด้วยแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส ได้มีมาตรการบังคับใช้ SAF อย่างเข้มงวด โดยให้ทุกเที่ยวบินที่เดินทางออกนอกประเทศใช้ SAF อย่างน้อย 1% ของการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานในปี 2565 และจะปรับสัดส่วนเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2593
สำหรับประเทศไทย ภาคเอกชนก็ได้เข้ามามีบทบาทใน SAF เช่นกัน โดยบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ด้านการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนสำหรับเที่ยวบินนำร่องและเพื่อต่อยอดความร่วมมือด้าน SAF ระหว่างกันในอนาคต อีกทั้งบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนโชคออยล์ ไลท์ จำกัด และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ยังได้ร่วมทุนกันจัดตั้งบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืนจากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) ด้วยงบลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านอาหาร และโรงแรม สามารถมีความร่วมมือกับทาง BSGF ได้
ความท้าทายและโอกาส
อย่างไรก็ดี แม้ว่า SAF จะมีความท้าทายในเรื่องราคาต้นทุนที่สูงกว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิลอยู่กว่า 2-3 เท่า แต่การผลิต SAF ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว เช่น ด้าน supply chain ที่เกี่ยวกับการบินและโรงกลั่นน้ำมัน นอกจากนี้ ไทยยังมีวัตถุดิบในการผลิต SAF อยู่มากโดยเฉพาะของเหลือทางการเกษตร โดยการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในด้านนโยบายการใช้ และในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นปัจจัยสำคัญในการลดต้นทุนการผลิต การผลิต SAF เพื่อรองรับความต้องการใช้ของลูกค้าสายการบินที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอนของเครื่องบินที่มาลงจอดในประเทศถือเป็นโอกาสในระยะสั้น สำหรับในระยะยาวการสนับสนุนการผลิตในปริมาณมากเพื่อส่งออก ถือเป็นโอกาสที่ไทยสามารถเป็นผู้นำด้าน SAF ในภูมิภาค และสามารถเป็นอีกมิติหนึ่งที่จะส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ของไทย
แหล่งข้อมูล
- (1) https://www.longtunman.com/46034
- (2) https://www.bangchak.co.th/th/newsroom/reflection/952/sustainable-aviation-fuel-saf-%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99
- (3) https://www.bangkokbanksme.com/en/sustainable-fuel
- (4) https://www.bangkokbiznews.com/environment/1092014
- (5) https://www.scbeic.com/th/detail/product/7523
- (6) https://thaipublica.org/2023/11/or-x-thaiairways-saf-pr-27112023/