(ตอนที่ 1) การลงทุนสีเขียวกับเป้าหมาย Net Zero
ปัจจุบัน ทั่วโลกต่างก็ตื่นตัวในการรับมือกับความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนสีเขียว ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียวและพลังงานสะอาด หรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เมื่อไม่นานมานี้ หลายท่านอาจได้อ่านข่าวการทำข้อตกลงด้านการลงทุนสีเขียวที่มีมูลค่าสูงที่สุด ระหว่าง Brookfield Asset Management และ Microsoft มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อจัดหาและบริหารจัดการเทคโนโลยีพลังงานสะอาดให้แก่ Microsoft เรื่องการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate finance จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจอย่างมากในแทบทุกเวที โดยข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า เราจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนอย่างน้อย 5-7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2573 จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้[1] ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ที่ว่า จะต้องมีการลงทุนด้านพลังงานสะอาดอย่างน้อย 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2573 เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2593[2] โจทย์ใหญ่ในเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะใช้รับมือและปรับตัวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาที่ยุทธศาสตร์ climate action ของไทย เราตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ carbon neutrality ในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ภายในปี 2593 โดยมีเข็มทิศหลัก คือ “แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี 2558-2593” ซึ่งประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ (1) การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และ (3) การสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยต้องอาศัยเงินทุนและการลงทุนเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นนโยบายและมาตรการใหม่ ๆ หลายประการเพื่อส่งเสริมการลงทุนสีเขียวอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก 4 ปี (2567 – 2570) เพื่อกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียวของ BOI[3] รวมถึงมาตรการทางการเงินกว่า 450,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว[4] ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Thailand Taxonomy เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการจัดกลุ่มทางเศรษฐกิจ ในภาคพลังงานและภาคการขนส่ง[5] ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันเกือบร้อยละ 70 ของปริมาณทั้งหมดในไทยในแต่ละปี และปัจจุบันอยู่ระหว่างการเริ่มพัฒนา Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ซึ่งจะรวมภาคเศรษฐกิจในขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และภาคการจัดการของเสีย
[1] https://www.cop28.com/en/climate_finance_framework
[2] https://www.weforum.org/agenda/2023/09/iea-clean-energy-investment-global-warming/
[3] ยุทธศาสตร์เชิงรุก 4 ปี “บีโอไอ” ร่วมเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสีเขียว https://www.bangkokbiznews.com/environment/1094234
[4] นายกฯ แสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ESG ผลักดันประเทศไทยสู่ความยั่งยืน รัฐบาลออกมาตรการทางการเงินกว่า 450,000 ล้านบาท ลงทุนเศรษฐกิจสีเขียว https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/73002
[5] https://www.bot.or.th/th/financial-innovation/sustainable-finance/green/Thailand-Taxonomy.html