อุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) ของมณฑลกวางตุ้งเติบโตอย่างรวดเร็วและมีห่วงโซ่อุตสาหกรรม ESS อยู่ในระดับแนวหน้าของจีน เนื่องจากได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยมีบริษัทสำคัญในพื้นที่ เช่น บริษัท BYD จำกัด บริษัท TCL จำกัด บริษัท EVE จำกัด บริษัท EAST Group จำกัด เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้ออกนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ESS ครั้งแรกเมื่อปี 2566
โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มณฑลกวางตุ้งมีโครงสร้างพื้นฐาน ESS ซึ่งสามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าติดตั้งสะสม 1.6 ล้านกิโลวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 125 เมื่อเทียบกับปี 2565 และมีวิสาหกิจด้าน ESS ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 13 ราย ซึ่งมากที่สุดในจีน ทั้งนี้ เมื่อปี 2566 มณฑลกวางตุ้งมีบริษัทด้าน ESS ทั้งหมด 23,600 แห่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นจำนวนที่มากที่สุดในจีนแล้ว รายได้จากอุตสาหกรรม ESS ในมณฑลกวางตุ้ง ยังสะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่งของกลุ่มอุตสาหกรรมฯ กล่าวคือ เมื่อปี 2565 มณฑลกวางตุ้งมีรายได้จากอุตสาหกรรม ESS กว่า 150,000 ล้านหยวน และในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มเป็น 289,000 ล้านหยวน ขยายตัวได้ร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปี 2565 นอกจากนี้ นโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ESS ยังมีเป้าหมายให้มณฑลกวางตุ้งมีโครงสร้างพื้นฐานเก็บพลังงานไฟฟ้าติดตั้ง (Installed Capacity) สะสม 4 ล้านกิโลวัตต์ ภายในปี 2570
มาตรการสนับสนุน
รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งบรรจุแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม ESS ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน มณฑลกวางตุ้ง ครั้งแรกในแผนฯ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ประกาศเมื่อเดือนมีนาคม 2565) ต่อมาเมื่อปี 2566 ได้ออกมาตรการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม ESS สำคัญ 4 ฉบับ ครอบคลุมการกำหนดแนวทางดําเนินงาน เป้าหมาย ระยะเวลา เงินอุดหนุน และรายละเอียดทางเทคนิคของเทคโนโลยี ESS ได้แก่ (1) แนวทาง ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงของ ESS ตั้งเป้าหมายให้มีรายได้จากอุตสาหกรรม ESS 1 ล้านล้านหยวน (141,910 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2570 (2) มาตรการเร่งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงของ ESS กำหนดแนวทางพัฒนาเทคโนโลยี ESS โดยเฉพาะแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและเทคโนโลยีใหม่ เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยล้อตุนกําลัง (Flywheels ESS) ตัวเก็บประจุยิ่งยวด (Supercapacitor) เป็นต้น (3) กองทุนพิเศษส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพสูง เพื่อสนับสนุนโครงการอุตสาหกรรมสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ โดยจัดสรรงบประมาณให้โครงการที่เกี่ยวข้องกับ ESS สูงสุด 10 ล้านหยวน (1.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ (4) แผนงานด้านนวัตกรรม ESS ระบุเป้าหมายทางเทคนิคของ ESS 5 ประเภท ได้แก่ พลังงานเคมีไฟฟ้า (Electrochemical Energy) พลังงานกล (Mechanical Energy) พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Energy) พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Energy) และพลังงานความร้อน (Thermal Energy)
โครงการสำคัญ
เมื่อเดือนธันวาคม 2566 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปจีน/มณฑลกวางตุ้งจัดทำรายการโครงการ ESS จำนวน 13 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 24,840 ล้านหยวน (3,525 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้ากําลังติดตั้งรวมกว่า 2.14 กิกะวัตต์/3.82 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง โดยมีโครงการสำคัญ คือ ‘โครงการศูนย์นวัตกรรมการจัดเก็บพลังงานใหม่’ โดยบริษัท Guangdong New Energy Storage Innovation Center ที่นครกว่างโจว ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้ากําลังสะสม 300 เมกะวัตต์/600 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium-Ion Battery) แบตเตอรี่โซเดียมไอออน (Sodium-Ion Battery) แบตเตอรี่โซลิดสเตต (Solid State Battery) ตัวเก็บประจุยิ่งยวด (Supercapacitor) แบตเตอรี่เหลว (Flow Cell) และแบตเตอรี่น้ำ (Aqueous Battery) เป็นต้น
จากข้างต้น มณฑลกวางตุ้ง เป็นมณฑลที่ให้ความสำคัญด้านพลังงานและมีความก้าวหน้าในด้านพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานลมนอกชายฝั่ง รวมถึงการกักเก็บพลังงาน ซึ่งเห็นว่า อาจเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของไทยได้ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนไทย สามารถพิจารณาโอกาสดำเนินโครงการแลกเปลี่ยน วิจัยและพัฒนา หรือร่วมลงทุนด้านพลังงาน เพื่อนําเทคโนโลยีและ Know-How รวมถึงการศึกษาและแก้ไขผลกระทบในด้านต่าง ๆ เพื่อปรับใช้กับอุตสาหกรรมพลังงานของไทยในอนาคต
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์