เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ได้ไปศึกษาดูงานที่โรงงานผลิตไบโอแก๊ส ณ เมือง Szarvas โดยได้พบหารือกับนาย Kornel Toth ผู้แทนจากบริษัท Hungarian Oil and Gas Public Limited หรือ MOL (ฝ่ายการทําธุรกิจอย่างยั่งยืน) และนาย David Czirle ผู้บริหารโรงงาน
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัท MOL และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว
(1) หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในฮังการี MOL แปรรูปกลับเป็นเอกชน และเปลี่ยนเป็นบริษัทจํากัดในตลาดหุ้นฮังการีเมื่อปี 2534 จากนั้นได้เริ่มขยายการดําเนินการในต่างประเทศ ปัจจุบันมีการดําเนินการส่วนใหญ่ในยุโรป (ฮังการี เช็กเกีย สโลวาเกีย โปแลนด์ โครเอเชีย สโลวีเนีย โรมาเนีย เซอร์เบีย บอสเนีย และมอนเตเนโกร) แต่ก็มีการดําเนินการในเอเชีย (รัสเซีย คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน และปากีสถาน) และตะวันออกกลาง/แอฟริกา (อียิปต์ ซีเรีย และอิรัก) อย่างไรก็ดี MOL ไม่มีแผนที่จะขยายการดําเนินการไปยังประเทศเอเชียที่ห่างไกลกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากระยะทางและความแตกต่างของเวลาเป็นอุปสรรคในการบริหาร
(2) ในการดําเนินการในต่างประเทศ MOL ยึดหลักการทํางานกับประชาชนของประเทศนั้น ไม่ใช่กับรัฐบาล ทําให้ MOL สามารถทําธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าบางประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลง/ความไม่มั่นคงทางการเมือง อาทิ ปากีสถาน อิรัก และซีเรีย อย่างไรก็ดี ในประเทศเหล่านี้ มีค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม
(3) กิจการของ MOL ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรม upstream (ขุดเจาะและกลั่นน้ํามัน) แต่ก็มีอุตสาหกรรม downstream (การขนส่งและจัดจําหน่ายน้ํามัน) ด้วย ปัจจุบันมีการดําเนินธุรกิจ downstream มากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
(4) ในช่วงปี 2557-2558 MOL เปลี่ยนมาให้ความสําคัญกับความยั่งยืน และเริ่มการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจ พลังงานที่ยั่งยืน โดยในตอนนั้นเป็นการเตรียมการล่วงหน้าสําหรับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปและประเทศผู้รับที่มีแนวโน้มไปในทิศทางความยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ดี MOL ยึดหลัก Profitability Towards Net-Zero และไม่เห็นด้วยกับการออกกฎระเบียบด้านความยั่งยืนของสหภาพยุโรปที่ไม่คํานึงถึงขีดความสามารถในการแข่งขัน
(5) ในการเปลี่ยนผ่าน MOL เปลี่ยนทัศนคติจากการเป็นผู้จําหน่ายพลังงาน (fuel) ไปสู่การเป็นผู้จําหน่าย Mobility กล่าวคือ การจําหน่ายสินค้าหรือบริการที่ทําให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนหรือสินค้าได้อย่างยั่งยืน ทําให้โมเดลธุรกิจของ MOL ครอบคลุมเศรษฐกิจหมุนเวียนและการรีไซเคิล จึงเป็นที่มาของการเข้ามาบริหารโรงงานผลิตไบโอแก๊สที่เมือง Szarvas นี้
(6) นอกเหนือจากโรงงานไบโอแก๊ส MOL แสวงหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มการผลิตพลังงานจากต้นทุนคาร์บอนที่เท่าเดิม/ลดลง นอกจากนี้ MOL ยังพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจน ซึ่งปัจจุบัน MOL เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันออก และอยู่ระหว่างการขยายการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานแสงอาทิตย์และเทคโนโลยี electrolysis รวมทั้งในอนาคตจะนําพลังงานไฮโดรเจนมาปรับใช้ในการกลั่นน้ํามัน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมกลั่นน้ํามัน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของ MOL
(7) MOL ไม่ได้มีทุนมากเท่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน อาทิ Shell ทําให้ MOL ต้องให้ความสําคัญกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ยังมีพื้นที่ในตลาด ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีไฮโดรเจน ซึ่งปัจจุบัน MOL มีโรงงานผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ในยุโรป แต่ก็คาดว่าในอนาคต บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Shell ก็จะเข้ามาผลิตไฮโดรเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของการผลิตไบโอแก๊สก็เช่นกัน อย่างไรก็ดี การทําโครงการนําร่องโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก่อนบริษัทยักษ์ใหญ่จะทําให้ MOL มีองค์ความรู้ในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก่อน ซึ่ง MOL สามารถนําองค์ความรู้มาต่อยอดเพิ่มเติม เพื่อให้ก้าวนําบริษัทยักษ์ใหญ่ต่อไป
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโรงงานไบโอแก๊ส
(1) โรงงานไบโอแก๊สที่เมือง Szarvas เริ่มผลิตไบโอแก๊สตั้งแต่ปี 2554 โดย MOL ซื้อต่อมาจากบริษัทสัญชาติเยอรมันเมื่อปี 2566 โดยในตอนนั้น MOL ยังไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตไบโอแก๊สเลย ทําให้ต้องจ้างงานบุคลากรของบริษัทเดิมด้วย ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของ MOL ว่าบริษัทต้องเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนและต้องดึงดูดคนจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากบุคลากรในสาขาพลังงานที่มีอยู่เดิม และนําคนจากหลากหลายอุตสาหกรรมมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินการในอุตสาหกรรมไบโอแก๊สของ MOL ที่ผ่านมา ส่งผลให้ MOL กลายเป็นผู้นําด้านไบโอแก๊สในยุโรปตะวันออก
(2) Input ของโรงงาน ได้แก่ (1) ไฟฟ้า และ (2) ขยะอินทรีย์ โดยสามารถย่อยขยะ 132,100 ตัน/ปี
(3) Output ของโรงงาน ได้แก่ (1) ไบโอแก๊ส ซึ่งส่งไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานไบโอแก๊สห่างไป 4 กิโลเมตร ผ่านท่อส่งแก๊สใต้ดิน และผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงาน และส่งออกสู่ Grid โดยเฉลี่ยส่งออกสู่ Grid 24,080,000 kWH ในแต่ละปี (กําลังการผลิต 4MW) (2) ความร้อน และ (3) ปุ๋ย ในรูปแบบดินและของเหลว ซึ่งสามารถนํากลับไปกระจายในพื้นที่เกษตร (ปุ๋ยของเหลวจะมีการใส่สารเคมีเพื่อลดกลิ่นและนําไปพักที่สระน้ําใกล้เคียงก่อน)
(4) ขยะอินทรีย์ที่นํามาผลิตไบโอแก๊สแบ่งเป็นขยะแข็ง (solid) และขยะเหลว (liquid) ซึ่งขยะทั้งสองรูปแบบจะผ่านการศึกษาโดยนักชีววิทยาที่ประจําอยู่ที่โรงงานเพื่อวัดจํานวนและชนิดของจุลินทรีย์ เพื่อคํานวณให้ได้อัตราส่วนของขยะแต่ละประเภท แต่ละแหล่ง แต่ละล็อต เพื่อให้สามารถผลิตไบโอแก๊สได้มากที่สุด เมื่อได้สัดส่วนแล้ว ขยะแข็งจะถูกบดก่อนนําไปผสมกับขยะเหลวในแทงค์หมักขั้นที่หนึ่ง ทิ้งให้หมักเป็นเวลา 35-40 วัน ซึ่งระหว่างนั้นจะผลิตไบโอแก๊สได้รอบหนึ่งก่อนที่จะส่งไปแทงค์หมักขั้นที่สอง ซึ่งอาจเพิ่มขยะเหลวเพื่อสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ และสามารถผลิตไบโอแก๊สได้อีกรอบหนึ่ง หลังจากนั้นสิ่งที่เหลือจะถูกแยกระหว่างของแข็งและของเหลว เพื่อนําไปใช้เป็นปุ๋ยในการเกษตรต่อไป
(5) โรงงานไบโอแก๊สทําให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคเกษตร โดยขยะการเกษตรถูกนํามาหมักให้เกิดปุ๋ย ซึ่งสามารถนําไปใช้ในการเกษตรได้ใหม่ และยังเกิดไบโอแก๊สที่นําไปใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อให้ภาคการเกษตรและครัวเรือนใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ
(6) ไบโอแก๊สที่ผลิตได้มีสัดส่วนเป็นไบโอมีเทนร้อยละ 50 และคาร์บอนไดออกไซด์อีกร้อยละ 50 ซึ่งสามารถเป็นพื้นฐานสําหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรม โดยจะต้องเพิ่มการแยกไบโอมีเทนจากคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อตอบสนองความต้องการมีเทนของอุตสาหกรรม และต้องใช้ไฮโดรเจนสีเขียวเพิ่มเติม เนื่องจากหากใช้เฉพาะไบโอมีเทน จะต้องมีโรงงานไบโอแก๊สจํานวนมาก ซึ่งจะต้องใช้ขยะอินทรีย์จํานวนมาก และต้องมีระบบโลจิสติกส์ขนส่งขยะและแจกจ่ายปุ๋ยจํานวนมาก ทั้งนี้ MOL เชื่อว่า การใช้เทคโนโลยีทั้งสามร่วมกันจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของยุโรปโดยไม่ละทิ้งการพัฒนาที่ยั่งยืน
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์