เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2568 นายลอเรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้กล่าวปาฐกถาใน S Rajaratnam Lecture ณ Singapore University of Technology and Design (SUTD) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมในโอกาสครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งประเทศในปี 2568
พัฒนาการของสิงคโปร์
นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวถึงพัฒนาการของสิงคโปร์ตั้งแต่การก่อตั้งประเทศ เมื่อปี 2508 (ค.ศ. 1965) จากประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่มีทรัพยากรได้กลายเป็นรัฐชาติที่มีความเจริญก้าวหน้า ทันสมัย และได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยความสําเร็จนี้เป็นผลจากระเบียบโลกเสรีนิยมในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสหรัฐอเมริกามีบทบาทนําในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมของโลกที่มีเสถียรภาพ มีระบบการค้าที่เสรี และมีการจัดตั้งสถาบันพหุภาคีที่สําคัญ เช่น UN, IME, World Bank และ WTO ซึ่งระบบโลกในช่วงดังกล่าวเอื้อต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ และเปิดโอกาสให้ประเทศขนาดเล็ก อาทิ สิงคโปร์ สามารถมีพื้นที่ในเวทีโลกและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกได้อย่างเท่าเทียม
โลกที่เปลี่ยนผันและกติกาที่ไม่เหมือนเดิม
นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์แสดงความกังวลต่อระเบียบโลกที่เคยสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงกําลังถูกท้าทาย โดยสหรัฐอเมริกามุ่งลดบทบาทภายนอกของตนและหันกลับมาเน้นการจัดการปัญหาภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่ใช่เพียงชั่วคราวเท่านั้นและจะสะท้อนถึง “the new normal” ในสหรัฐอเมริกาไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่จีนได้พัฒนาขึ้นมาเป็นมหาอํานาจของโลกตะวันออกและต้องการรักษา “China’s rightful place in the world” ทําให้ทั้งสองประเทศเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นเพื่อช่วงชิงความเป็นมหาอํานาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งนี้ ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนกําลัง reshape โลกของเราและจะยังคงเป็นตัวกําหนดฉากทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกในอีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดสภาวะของการแข่งขัน ความหวาดระแวง กระแสชาตินิยมและการปกป้องทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงความอ่อนแอของสถาบันระหว่างประเทศและกติกาของระบบพหุภาคี
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนมุมมองและนโยบายของประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย อันเป็นผลจากบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่ลดลงและคลุมเครือ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการให้หลักประกันด้านความมั่นคงแก่ยูเครนและ NATO รวมถึงการปฏิบัติต่อประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนอย่างไม่สมดุล ซึ่งทําให้ประเทศในยุโรปและเอเชียต้องพึ่งพาตนเองและลงทุนด้านการป้องกันประเทศมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ทําให้ประเทศในเอเชียตั้งคําถามเกี่ยวกับความยั่งยืนของการมีส่วนร่วมของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคและเริ่มแสวงหาแนวทางอื่น ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศ และ reshape ความสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอย่างมีนัยสําคัญด้วยเช่นกัน
ผลกระทบและแนวทางการรับมือของสิงคโปร์
การเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความระส่ําระสายของระบบเศรษฐกิจโลกด้วย ความเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกที่กําลังเข้าสู่ยุคหลายขั้วอํานาจ ขาดความสอดประสานและมีการแข่งขันสูง ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศขนาดเล็กอย่างสิงคโปร์ สิงคโปร์จึงจําเป็นต้องปรับตัวและมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน (like-minded countries) เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบพหุภาคีที่สนับสนุนการทํางานร่วมกันเพื่อสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีเสถียรภาพผ่านการดําเนินการ 3 แนวทาง ได้แก่
(1) การมีบทบาทเชิงรุกในการดูแลผลประโยชน์ร่วมของโลก (global commons) โดยให้ความสําคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลก เช่น การกํากับดูแลปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาดในอนาคต โดยสิงคโปร์เชื่อว่าผลประโยชน์ของรัฐขนาดเล็กจะได้รับการคุ้มครองอย่างดีที่สุดเมื่อมีกติกาสากลที่เป็นธรรมและใช้ได้กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้แสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ เช่น การมีบทบาทนําในการเจรจาความตกลง BBNJ การเสนอชื่อ Ambassador Rena Lee เป็นผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) การร่วมก่อตั้ง Friends of Covid-19 Vaccines Global Access (COVAX) Facility เพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมในการเข้าถึงวัคซีนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 และการจัดตั้งโครงการ Financing Asia’s Transition Partnership (FAST-P) เพื่อสนับสนุนการลดคาร์บอนในเอเชีย นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้แบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาผ่านโครงการ Singapore Cooperation Programme ซึ่งให้ประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่กว่า 155,000 คน จากกว่า 180 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก และล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ได้จัดตั้ง Development Partnership Unit ขึ้นเพื่อทําหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในสิงคโปร์อย่างเป็นระบบเพื่อกระชับความร่วมมือในสาขาที่สิงคโปร์เชี่ยวชาญและสามารถสร้าง meaningful impact
(2) การส่งเสริมการบูรณาการในภูมิภาคที่เข้มแข็ง เน้นย้ําว่า อาเซียนยังคงเป็นแกนกลางของ นโยบายต่างประเทศสิงคโปร์ โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการแบ่งขั้ว การรักษาความเป็นเอกภาพของอาเซียนจะช่วยให้สมาชิกอาเซียนสามารถรับมือกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และรักษาบทบาทของภูมิภาคในเวทีโลกได้อย่างมีพลัง โดยสิงคโปร์จะผลักดันให้อาเซียนเร่งรัดการบูรณาการทางเศรษฐกิจ เช่น การยกเลิกภาษีศุลกากรทั่วทั้งภูมิภาค การลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และการเพิ่มการค้าภายในภูมิภาค การผลักดันให้มีการลงนามความตกลง ASEAN Digital Economy Framework Agreement (DEFA) และการปรับปรุง FTA กับประเทศหุ้นส่วนสําคัญ เช่น จีน อินเดีย และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ สิงคโปร์สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ ASEAN Power Grid เพื่อส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนซึ่งจะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ดึงดูดการลงทุน สร้างงาน และส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของภูมิภาคร่วมกัน ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ให้ความสําคัญกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เปิดกว้างและครอบคลุมผ่านกลไกของอาเซียน โดยเมื่อสิงคโปร์รับตําแหน่งประธานอาเซียนในปี 2570 (ค.ศ. 2027) ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งอาเซียน สิงคโปร์จะใช้โอกาสดังกล่าวในการผลักดันการรวมกลุ่มของภูมิภาคในเชิงลึกให้มากขึ้น และเสริมสร้างอาเซียนให้เป็นเสาหลักแห่งสันติภาพและความมั่งคั่งในเอเชีย
(3) การเสริมสร้างพันธมิตรและเครือข่ายความร่วมมือระดับโลกให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อ เพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอนในปัจจุบัน แม้สิงคโปร์จะเป็นรัฐภาคีของ CPTPP และ RCEP และมีข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ ซึ่งช่วยเปิดตลาดและลดผลกระทบจากกระแสกีดกันทางการค้าได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี สิงคโปร์ยังคงต้องดําเนินการเพื่อเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีให้มีเสถียรภาพต่อไป โดยมีแนวคิดที่จะกระชับความร่วมมือระหว่าง CPTPP กับ EU ให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันทั้งสองกลุ่มมี GDP รวมกันประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุน และช่วยรักษา rules-based trading system ไว้ได้ ทั้งนี้ สิงคโปร์ยังสนับสนุนให้มีการกระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับ EU โดย EU เป็น Dialogue Partner ของอาเซียนตั้งแต่ปี 2520 มีการจัดทํา FTA กับสิงคโปร์ และเวียดนามแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทําข้อตกลงทางการค้ากับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งการมีความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างสองภูมิภาคจะช่วยปูทางไปสู่การจัดทํา ASEAN-EU FTA ต่อไป
นอกจากนี้ สิงคโปร์มุ่งขยายความร่วมมือกับ like-minded countries เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย ฝรั่งเศส เยอรมนี เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และเวียดนาม และจะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภูมิภาคใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา โดยรัฐบาลสิงคโปร์มีแผนที่จะเปิดสถานเอกอัครราชทูตเพิ่มเติมในภูมิภาคแอฟริกาและลาตินอเมริกาในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าด้วย (ปัจจุบัน สิงคโปร์มีสถานเอกอัครราชทูตเพียง 2 แห่งในภูมิภาคแอฟริกาที่กรุงไคโรและกรุงพริทอเรีย และมีสถานเอกอัครราชทูตเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่กรุงบราซิเลีย) ทั้งนี้ สามารถสืบค้นปาฐกถาดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้จากเว็บไซต์ https://www.pmo.gov.sg/Newsroom/PM-Lawrence-Wong-at-the-S-Rajaratnam-Lecture-2025
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์