ในปี 2567 คูเวตอยู่ในช่วงการปฏิรูปเศรษฐกิจตามแผนวิสัยทัศน์คูเวต 2035 ซึ่งการปฏิรูปเป็นผลมาจากการถดถอยทางเศรษฐกิจ โดย GDP หดตัวลงร้อยละ 2.8 เนื่องจากการลดกําลังการผลิตน้ํามันเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ํามันโลกตาม OPEC+ ราคาน้ํามันที่ผันผวน การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสําคัญที่สุด และความไม่แน่นอนของอนาคตการเมือง ส่งผลให้รัฐบาลต้องลดงบประมาณการลงทุนและชะลอการดําเนินนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ยิ่งกว่านั้นปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงและความไร้ประสิทธิภาพด้านการบริหารยังทําให้สถานการณ์เลวร้ายลง ส่งผลกระทบสําคัญ เช่น การชะลอการปฏิรูปทางการคลังและภาษี ความล่าช้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการขาดแรงจูงใจในการลงทุนจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจคูเวตหดตัวลง แต่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 177 อีกทั้งงบประมาณภาครัฐยังคงเพียงพอต่อการดําเนินโครงการต่าง ๆ และสามารถขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปต่อไปได้
ความก้าวหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจ
สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเปิดเสรีธุรกิจ และการปฏิรูปภาครัฐ คูเวตเน้นการปรับปรุงระบบภาษี กฎหมายธุรกิจ และการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ ทั้งนี้ Kuwait Investment Authority (KIA) ซึ่งบริหารจัดการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) มีบทบาทสําคัญในการลงทุนในโครงการระดับโลกในต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและเพิ่มผลตอบแทน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ หุ้น พลังงานทดแทน และเทคโนโลยี แม้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองจะเป็นอุปสรรค แต่การลงทุนดังกล่าวช่วยลดการพึ่งพาน้ํามันและนําเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสู่เศรษฐกิจคูเวตควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ได้เริ่มเปิดตัวในปี 2567 แล้ว เช่น เมืองอัจฉริยะ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน และพลังงานหมุนเวียนในระดับภูมิภาค คูเวตกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอ่าวอาหรับ พร้อมขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต
ขณะที่การปฏิรูปการคลังและระบบสวัสดิการ คูเวตมุ่งลดภาระงบประมาณจากการพึ่งพารายได้จากน้ํามันที่ผันผวนและค่าใช้จ่ายภาครัฐที่สูง โดยรัฐบาลดําเนินมาตรการลดเงินอุดหนุนพลังงาน เช่น การปรับขึ้นราคาน้ํามันและค่าไฟฟ้าเพื่อลดภาระการจ่ายเงินของรัฐ แม้ว่าจะเผชิญกับการต่อต้านจากประชาชนที่คุ้นเคยกับราคาค่าสาธารณูปโภคที่ต่ํา
ทางด้านสาธารณสุข รัฐบาลพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายโดยจํากัดการส่งผู้ป่วยไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ซึ่งเคยเป็นภาระทางการคลัง นอกจากนี้ยังสนับสนุนการเข้าร่วมของภาคเอกชนในโครงการความร่วมมือภาครัฐ – เอกชน (PPP) เช่น การขยายโรงพยาบาลเอกชนแทนการใช้บริการโรงพยาบาลภาครัฐ แต่ประชาชนยังคงกังวลเกี่ยวกับคุณภาพการรักษาที่ได้รับจากสวัสดิการภาครัฐ
ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามเพิ่มแหล่งรายได้ที่ไม่ใช่น้ํามัน ผ่านการขยายค่าธรรมเนียมบริการภาครัฐ เช่น การออกกฎหมายภาษีสําหรับบริษัทข้ามชาติ (MNCs) กําหนดให้บริษัทที่ดําเนินธุรกิจในคูเวตต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลในอัตราร้อยละ 15 ของกําไรสุทธิ เริ่มบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2568 นอกจากนี้ ยังมีการเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่าวีซ่า และบริการราชการอื่น ๆ รวมถึงผลักดันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในบางภาคส่วน เช่น โทรคมนาคมและโลจิสติกส์ อย่างไรก็ดี มาตรการจัดเก็บภาษีใหม่ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษี สรรพสามิต ยังคงเผชิญกับการต่อต้านจากประชาชนและกลุ่มธุรกิจที่มองว่าเป็นภาระเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกําลังซื้อและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ


แนวโน้มในปี 2568
ในปี 2568 คูเวตคาดว่า เศรษฐกิจจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 – 3 ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปโครงสร้างและการลงทุนภาครัฐที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสําคัญประมาณ 10 – 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น การขยายท่าเรือ สนามบิน และโครงการ PPP ในด้านสาธารณสุข ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตในภาคการก่อสร้าง การขนส่ง และการบริการ โดยเฉพาะในภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นจากการร่วมมือกับภาครัฐในการลงทุนโครงการต่าง ๆ การขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) และการยกระดับภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่น้ํามัน เช่น พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีขั้นสูง จะช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ให้กับเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงดําเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ – เอกชน (PPP) ในการพัฒนาโครงการสําคัญต่าง ๆ โดยตั้งเป้าหมายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ได้ 1.5 – 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ซึ่งอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของคูเวตในตลาดโลกและทําให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ขณะที่การขยายตัวในภาคการเงินและการธนาคาร รวมถึงการบังคับใช้ภาษีนิติบุคคลจากบริษัทข้ามชาติ (MNCs) คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะช่วยให้รัฐบาลมีแหล่งรายได้ใหม่นอกเหนือจากภาคน้ํามัน การควบคุมค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และการจํากัดการส่งผู้ป่วยไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการปรับลดค่าใช้จ่ายทางการคลัง ซึ่งคาดว่าในปี 2568 คูเวตจะลดค่าใช้จ่ายด้าน การส่งผู้ป่วยไปรักษาในต่างประเทศลงประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากการสนับสนุนการเข้าร่วมโครงการ PPP ในการขยายโรงพยาบาลเอกชน
อย่างไรก็ดี คูเวตยังต้องเผชิญกับหลากหลายความท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตในระยะยาว โดยเฉพาะการพึ่งพาน้ํามันที่ยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักและทําให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงจากการผันผวน ของราคาน้ํามันโลก ซึ่งอาจทําให้การกระจายความเสี่ยงจากน้ํามันยังไม่สําเร็จในระยะเวลาอันสั้น การขาดแรงงานทักษะสูงในบางอุตสาหกรรมที่ต้องการการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมยังคงเป็นอุปสรรคสําคัญในการพัฒนาความสามารถของภาคอุตสาหกรรม
การปรับขึ้นราคาน้ํามัน ค่าไฟฟ้า และการเก็บภาษีใหม่ เช่น VAT และภาษีนิติบุคคลจาก MNCs ยังคงพบการต่อต้านจากประชาชนและกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มองว่าเป็นภาระเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศและอาจทําให้การลงทุนบางภาคส่วนชะลอตัว โดยอาจลดความสามารถในการแข่งขันและการลงทุนในภาคธุรกิจ
นอกจากนั้น ปัญหาความเชื่อมั่นทางการเมือง ประสิทธิภาพของภาคราชการ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนมาอย่างยาวนาน ยิ่งกว่านั้น การเพิ่มความสําคัญของ ปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัลเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ซึ่งจําเป็นต้องมีแรงงานทักษะและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวได้

นัยสําคัญต่อประเทศไทย
จากข้างต้น ประเทศไทยยังสามารถแสวงหาลู่ทางโอกาสจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของคูเวตที่มุ่งเน้นการกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปการคลังได้ในหลากหลายด้าน โดยไทยสามารถเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสําหรับการลงทุนจากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Kuwait Investment Authority) โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ไทยยังมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรไปยังตลาดคูเวตที่มีความต้องการสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการเปิดโอกาสให้แรงงานไทยที่มีทักษะสูงในภาคการแพทย์และสุขภาพ เกษตรกรรม ก่อสร้าง และบริการเข้าสู่ตลาดแรงงานของคูเวต ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ตามแผนวิสัยทัศน์คูเวต 2035 ถือเป็นโอกาสในการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน
ในส่วนของการปฏิรูประบบสวัสดิการด้านสุขภาพของคูเวต ซึ่งมุ่งเน้นการลดงบประมาณเพื่อลดภาระด้านการคลังของประเทศในการส่งผู้ป่วยไปรักษาในต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางของผู้ป่วยจากคูเวตมายังไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว การปรับตัวของสถานบริการทางการแพทย์ในไทยจึงเป็นสิ่งสําคัญในการรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้ อาทิ การเสนอบริการทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือเทคนิคทางการแพทย์ที่เป็นที่ต้องการ เช่น การแพทย์ชะลอวัย ศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม หรือการฟื้นฟูสุขภาพ โดยการนําเสนอบริการที่มีมาตรฐานสูงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับโรงพยาบาลหรือคลินิกที่มีชื่อเสียงในคูเวต รวมทั้งบริษัทประกันสุขภาพ เพื่อให้คําแนะนําและบริการแก่ลูกค้าหรือผู้ป่วยก็สามารถสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพของไทยได้
สำหรับการท่องเที่ยว แม้ว่าคูเวตจะเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปการคลังและสวัสดิการด้านสุขภาพ ชาวคูเวตมีกําลังซื้อสูงและยังคงมีความสนใจในการท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสําหรับนักท่องเที่ยวจากคูเวต ซึ่งในปี 2567 ชาวคูเวตเดินทางมาไทยมากกว่า 90,000 คน ไทยสามารถคาดหวังการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวจากคูเวต
นอกจากตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพแล้ว การท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว เช่น การเพิ่มเที่ยวบินตรง การปรับปรุงสิ่งอํานวยความสะดวก และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวไทย ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างไทย – คูเวตยังเป็นอีกวิธีที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวคูเวตให้มาเยือนประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการหารือระดับสูง (Political Consultation) ไทย – คูเวต ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 และในการหารือทวิภาคีระดับสูงต่าง ๆ เมื่อปี 2567 ได้ร่วมหารือแนวทางความร่วมมือที่ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการติดตามผลการหารือเพื่อให้มีผลเป็นรูปธรรมต่อไป
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์