เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ธนาคารแห่งชาติสวิส (Swiss National Bank: SNB) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0.5 เหลือร้อยละ 0.25 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2568 โดยเงินฝาก (sight deposit) ของธนาคารต่าง ๆ ใน SNB ที่อยู่ในเกณฑ์ที่กําหนดจะได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 และเงินฝากที่เกินเกณฑ์จะไม่ได้รับดอกเบี้ย ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อลดลงจากร้อยละ 0.7 ในเดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นร้อยละ 0.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อันเป็นผลจากการปรับลดค่าไฟฟ้าเมื่อต้นปีนี้ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะเท่ากับร้อยละ 0.4 และ เท่ากับร้อยละ 0.8 ในปี 2569 – 2570 โดยอิงจากสมมติฐานว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ SNB จะคงอยู่ที่ร้อยละ 0.25 ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจสวิส (State Secretariat for Economic Affairs: SECO) คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 อยู่ที่ร้อยละ 0.3
สถานการณ์เศรษฐกิจสวิสเซอร์แลนด์และเศรษฐกิจโลก
(1) SNB คาดว่า ในปีนี้ เศรษฐกิจโลกจะเติบโตในระดับปานกลาง และอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องโดยเฉพาะ ในยุโรป อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนด้านการค้าระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการกีดกันทางการค้าที่อาจทําให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ได้อานิสงส์หลักมากจากภาคบริการและชิ้นส่วนการผลิต
(2) SNB ประเมินว่า GDP ของสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2568 จะเติบโตระหว่างร้อยละ 1 – 1.5 และอุปสงค์ภายในประเทศจะเติบโตขึ้น เป็นผลจากค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้น และการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน สวนทางกับการค้าระหว่างประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยคาดว่า GDP ในปี 2569 จะเติบโตที่ร้อยละ 1.5
(3) SECO ประเมินว่า GDP ของสวิตเซอร์แลนด์จะเติบโตที่ร้อยละ 1.4 ในปีนี้ และร้อยละ 1.6 ในปี 2569 ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.5 ในปีนี้ และร้อยละ 1.7 ในปี 2569 ซึ่งเหตุผลที่ GDP เติบโตต่ํากว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ร้อยละ 1.8 เกิดจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน โดย SECO คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในปี 2569 เป็นต้นไป
(4) สถาบัน BAK Economics market research institute คาดว่า GDP จะเติบโตที่ร้อยละ 0.8 ในปีนี้ และร้อยละ 1.7 ในปี 2569 ลดลงจากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ร้อยละ 1 ในปีนี้ และร้อยละ 2 ในปี 2569 และมองว่า มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์จะกระทบต่อการค้าโลก อีกทั้งความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางการค้าทําให้ภาคเอกชนลังเลต่อการลงทุน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะภาคการบริโภคและการก่อสร้างที่ขยายตัวได้ดีจากการเพิ่มขึ้นของจํานวนประชากรที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศ และการคงเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน


จากข้อมูลข้างต้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมไว้ว่า SNB มีมาตรการลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2567 (เมื่อต้นปี 2567 อัตราดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 1.75) และคาดว่าในการประชุมประจําไตรมาสครั้งต่อไปในเดือนมิถุนายน 2568 SNB อาจพิจารณาลดดอกเบี้ยอีกหากอัตราเงินเฟ้อลดลง และอาจนําไปสู่การใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบอีกครั้ง ซึ่งในปี 2564 อัตราดอกเบี้ยของสวิตเซอร์แลนด์เคยติดลบระหว่าง -0.75 ถึง – 0.25 ก่อนที่ดอกเบี้ยจะเข้าสู่แดนบวกในช่วงปลายปี 2565
ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงจากสถานการณ์ความขัดแย้งในหลายภูมิภาคทั่วโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศคู่ค้าสําคัญและสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งแต่ปี 2567 สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สําคัญที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.94/ปี และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และในปี 2567 ทั้งสองประเทศมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 8.84 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสวิตเซอร์แลนด์ส่งออก 6.34 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และนําเข้าจากสหรัฐอเมริกา 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์นี้ คณะผู้แทน SECO อยู่ระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาเพื่อเจรจาประเด็นการค้าทวิภาคีและโน้มน้าวไม่ให้สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่อสวิตเซอร์แลนด์
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์