“อวกาศ” ดินแดนเวิ้งวางอันไกลโพ้นที่กำลังกลายเป็นสมรภูมิที่หลายประเทศแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจนอกโลก หรือที่เรียกว่า “การแข่งขันทางอวกาศ” (Space Race) สะท้อนได้จากการเร่งพัฒนาโครงการด้านอวกาศมากมายของมหาอำนาจโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และอินเดีย
ที่น่าจับตามองมากที่สุด ณ เวลานี้ คงหนีไม่พ้น “จีน” ที่แม้ว่าจะเป็นน้องใหม่ในวงการอวกาศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า…เทคโนโลยีการบินและอวกาศของ “จีน” มาแรงแซงทางโค้ง โดยเฉพาะช่วง 10 ปีมานี้ ถือเป็น “ทศวรรษแห่งเทคโนโลยีการบินและอวกาศของจีน”ที่วงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างยอมรับและจับตามอง
จีนโชว์ความสำเร็จในห้วงอวกาศสู่สายตาชาวโลกอย่างต่อเนื่องช่วง 10 ปีมานี้ จีนปล่อยจรวดขึ้นสู่ห้วงอวกาศมากกว่า 200 ลำ ส่งดาวเทียมจำนวนมากขึ้นสู่วงโคจรทั้งดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมสำรวจโลก และดาวเทียมสำรวจระยะไกล สร้าง “สถานีอวกาศเทียนกง” และส่งนักบินอวกาศไปปฏิบัติภารกิจนอกโลกเป็นชาติที่ 3 ของโลก สร้างประวัติศาสตร์ส่งยานลงจอดดาวอังคารได้สำเร็จเป็นชาติที่ 2 ของโลก
ล่าสุด ภารกิจ ‘พิชิตจันทร์’ ของจีนในการส่งยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 (Chang’e 6) ไปเก็บตัวอย่างวัตถุ “ด้านไกลของดวงจันทร์”(Far Side) น้ำหนัก 1.935 กิโลกรัมกลับมายังโลกได้สำเร็จเป็นชาติแรกของโลกเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ
องค์การอวกาศแห่งชาติจีน โดยศูนย์สำรวจดวงจันทร์และวิศวกรรมอวกาศ (Lunar Exploration and Space Engineering Center) ได้ส่งมอบ “ตัวอย่างวัตถุ” ที่นำกลับมาจากดวงจันทร์ไปไว้ที่ห้องปฏิบัติการตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์ในความดูแลของหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติจีนซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (National Astronomical Observatories, Chinese Academy of Sciences) เป็นหลัก โดยนักวิทยาศาสตร์ในจีนจะได้รับโอกาสเป็นกลุ่มแรกที่ได้วิเคราะห์ตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์
รู้หรือไม่ว่า… ภายในห้องปฏิบัติการตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- ห้องเปิดผนึกแคปซูลที่เก็บตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์ โดยนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์จะทำการเปิดผนึกตัวอย่างผ่านถุงมือยางภายในตู้ปฏิบัติการเปิดผนึกมีสภาวะพิเศษที่มีก๊าซไนโตรเจน และมีความดันสูงกว่าด้านนอกเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้อากาศภายนอกเข้าไปในตู้ปฏิบัติการ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนของตัวอย่างในตู้ปฏิบัติการ
- ห้องคัดแยกตัวอย่าง เจ้าหน้าที่จำแนกและจัดเก็บตัวอย่างที่มีอยู่โดยพิจารณาจาก “ตัวอย่างได้สัมผัสกับอากาศหรือไม่” โดยตัวอย่างที่สัมผัสกับอากาศแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นตัวอย่างเศษหินบางส่วนที่คัดออกมาจากตัวอย่างดินบนดวงจันทร์ เพื่อชั่งน้ำหนักและถ่ายภาพ อนุภาคเศษหินเหล่านี้จึงถูกสัมผัสกับอากาศ (มีหมายเลขกำกับ และแยกเก็บต่างหาก) อีกส่วนหนึ่งเป็นตัวอย่างที่ใช้แถลงข่าว ขณะที่ตัวอย่างที่ไม่ได้สัมผัสกับอากาศถูกเก็บไว้ในตู้ปฏิบัติการไนโตรเจน
- ห้องปฏิบัติการที่เตรียมไว้สำหรับตัวอย่างวัตถุดวงจันทร์ที่กลับมาจากยานสำรวจฉางเอ๋อ 6
นับตั้งแต่ได้เริ่มแจกจ่าย “ตัวอย่างวัตถุชุดแรก” จากยานสำรวจฉางเฮ่อ 5 ไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวน 7 ชุดแล้ว รวมน้ำหนัก 85.48 กรัม โดยองค์กร/สถาบันวิจัยที่มีความประสงค์จะขอยืม “ตัวอย่างวัตถุ” จากดวงจันทร์จะต้องยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยตามกรอบเวลาที่กำหนด เมื่อโครงการผ่านการประเมินจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านตัวอย่างวัตถุดวงจันทร์แล้ว ศูนย์สำรวจดวงจันทร์และวิศวกรรมอวกาศจะดำเนินการตรวจสอบและยื่นขออนุมัติไปยังองค์การอวกาศแห่งชาติจีน
อนึ่ง มีการคาดกาณ์ว่า ในปีอีก 20 ปีข้างหน้า ตลาดอุตสาหกรรมอวกาศทั้งโลกจะมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คำว่า “เทคโนโลยีอวกาศ” ที่ฟังดูเหมือนไกลตัวแต่แท้จริงแล้วอวกาศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด อาทิ การสื่อสารและโทรคมนาคม การตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ การค้นหาและแสดงพิกัด สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของเทคโนโลยีอวกาศที่อยู่รอบตัวเราการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเป็นอีกหนึ่งสาขาที่ควรได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในรูปแบบการบูรณาการความร่วมมือ สถาบันการศึกษาไทยสามารถแสวงหาความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยในสาขาที่สถาบันการศึกษาจีนมีความเชี่ยวชาญเพื่อบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญ ต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมเพราะผู้ชนะคือประเทศที่ทันขบวนเทคโนโลยี
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง