เมืองโคโลญอยู่ระหว่างการทดสอบโครงการ “climate street” ทางด้านตะวันตกของบริเวณใจกลางเมืองในรูปแบบ “living lab” หรือการลองผิดลองถูก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การขับเคลื่อนของยานยนต์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดควบคู่กับการประหยัดพลังงาน โดยจะรวบรวมข้อมูลด้านการจราจรและเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน เพื่อในอนาคตจะพัฒนาระบบให้สามารถแสดงตําแหน่งของที่จอดรถที่ยังว่างอยู่ในเมือง รวมถึงบอกเส้นทางไปยังที่จอดรถดังกล่าว หรือการแสดงข้อมูลสัญญาณไฟจราจรล่วงหน้าให้คนขับรถบรรทุกปรับลดความเร็วเพื่อหลีกเลี่ยงการจอดติดสัญญาณไฟแดง โครงการ “climate street” เป็นโครงการที่เมืองฯ ร่วมกับบริษัทผลิตไฟฟ้า RheinEnergie เพื่อออกแบบโครงการเพื่อให้แน่ใจว่า เป็น Smart City ที่สะอาด บนพื้นฐานการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการพัฒนาเมืองดิจิทัลที่เป็นสิ่งควบคู่กัน ทั้งนี้ เมืองฯ คาดหวังว่า การลดปัญหาความหนาแน่นของการจราจรอาจจะช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศได้ แต่วิธีการที่ดีที่สุดสําหรับการเป็นเมืองอัจฉริยะคือการใช้บริการขนส่งสาธารณะ อย่างไรก็ดี เมืองอัจฉริยะในอุดมคติ คือ เมืองที่สะดวกสบาย มีเครือข่ายดิจิทัลเชื่อมโยงที่ดีขึ้น และมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน แต่ความร่วมมือของประชาชนผู้อยู่อาศัยเป็นสิ่งสําคัญที่สุด ดังนั้น เมืองโคโลญจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถส่งข้อเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Smart City ให้พิจารณาได้อีกด้วย [su_spacer size=”20″]
เมืองดอร์ทมุนด์พัฒนาโครงการ Smart City ภายใต้แนวคิด “Intelligent Networked City” เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยเมืองฯ ร่วมมือกับบริษัทบริษัท Vivai ผู้ให้บริการระบบ IT และบริษัท Microsoft ด้าน IT ขนาดใหญ่ทําโครงการบ้านอัจฉริยะสําหรับผู้สูงอายุของเมืองดอร์ทมุนด์ โดยจะมีการจัดเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในบ้าน และส่งต่อข้อมูลต่าง ๆ เช่น การหกล้มหรือการเปิดเตาทิ้งไว้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที [su_spacer size=”20″]
การทดลองทั้งสองโครงการข้างต้นส่งผลให้เกิดข้อกังวลในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล โดยมองว่าข้อมูลที่ถูกรวบรวมมีความละเอียดอ่อนและอ่อนไหว และอาจถูกนําไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งผู้สนับสนุนโครงการฯ กล่าวแย้งว่า ไม่น่าจะเกิดปัญหาดังกล่าว อาทิ โครงการ “climate street” ของเมืองโคโลญ กล้องบันทึกภาพจะบันทึกข้อมูลของรถ โดยไม่มีการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและจะลบการบันทึกในทันทีเมื่อส่งรหัสไปยังสำนักงานควบคุม ในขณะที่บริษัท Vivai ยืนยันว่า โครงการบ้านอัจฉริยะสําหรับผู้สูงอายุของเมืองดอร์ทมุนด์ บริษัทฯ ให้ความสําคัญกับการปกป้องข้อมูลเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลจะถูกรวบรวมไว้ในระบบเก็บข้อมูลที่บ้าน และจะถูกนํามาใช้เมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือญาติอนุญาตเท่านั้น นอกจากนั้น ยังมีข้อห่วงกังวลเรื่องการผูกขาดของบริษัทผู้ให้บริการด้าน IT หากเป็นการทําสัญญาระยะยาวในการบริหารและจัดการด้านสาธารณูปโภค ทั้งนี้ มีรายงานว่า นครบาร์เซโลนามีแผนเปลี่ยนไปใช้ระบบ IT แบบเปิด เพื่อลดการพึ่งพึงบริษัทผู้ให้บริการด้าน IT ด้วย [su_spacer size=”20″]
การพัฒนา Smart City ของยุโรปเป็นการนําเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมและมีพัฒนาการมายาวนานนับศตวรรษ ซึ่งเป็นแนวทางที่แตกต่างจากเอเชียที่เน้นการสร้างเมืองใหม่ให้เป็น Smart City [su_spacer size=”20″]
The IESE Business School ของนครบาร์เซโลนา ได้จัดลําดับ Smart City ประจําปี ค.ศ. 2018 จํานวน 165 เมืองจาก 80 ประเทศทั่วโลก โดยใช้หลักเกณฑ์ด้านต่าง ๆ 9 ข้อ ได้แก่ ทุนมนุษย์ การทํางานร่วมกันในสังคม เศรษฐกิจ การบริหารจัดการของรัฐ สิ่งแวดล้อม การคมนาคมขนส่ง การวางผังเมือง การเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และเทคโนโลยี เป็นต้น โดย 5 ลําดับแรก ได้แก่ (1) นครนิวยอร์ก (2) กรุงลอนดอน (3) กรุงปารีส (4) กรุงโตเกียว และ (5) กรุงเรคยาวิก ในขณะที่เมืองในสหพันธ์ฯ ที่ติดใน 50 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเบอร์ลิน (ลําดับที่ 11) นครฮัมบวร์ก (ลําดับที่ 31) และนครมิวนิก (ลําดับที่ 37) และนครแฟรงก์เฟิร์ต (ลําดับที่ 42) ในขณะที่เมืองโคโลญอยู่ในอันดับที่ 54 และเมืองดอร์ทมุนด์ยังไม่ถูกจัดในอันดับ กรุงเทพมหานครอยู่ในอันดับที่ 90 [su_spacer size=”20″]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต