ปัจจุบัน นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) จากภาครัฐทำให้เราได้เห็นชาวต่างชาติหลากหลายสัญชาติเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยไทยมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ได้รับมาตรฐานสากลอย่างมาตรฐาน “คณะกรรมการร่วมรับรองมาตรฐานสถานพยาบาล (Joint Commission International – JCI)” มากถึง 64 แห่งในปีนี้ ซึ่งถือว่าสูงในลำดับ ต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ ประเทศไทยก็ยังมีสินค้าและบริการที่ส่งเสริมสุขภาวะ (Wellness) มากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นการนวดแผนไทย สปา สินค้าสมุนไพรแปรรูป เป็นต้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสนใจเดินทางเข้ามาใช้บริการ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการรักษาพยาบาลก็ไม่เคยหยุดพัฒนาเพื่อให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้มากยิ่งขึ้นและลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากระยะทางที่ห่างไกลกันระหว่างผู้ป่วยและสถานพยาบาล จึงเป็นที่มาของระบบการรักษาทางไกล (Tele-medicine) ที่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผู้ประกอบการไทยในสาขาที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต [su_spacer size=”20″]
Tele-medicine คืออะไร?
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “การแพทย์ทางไกล” หรือ “Tele-medicine” ว่า การบริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลโดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค ทั้งนี้ Tele-medicine อาจมีรูปแบบต่าง ๆ เช่น การใช้แอพพลิเคชันสื่อสารในการให้คำปรึกษาเชิงจิตเวช การใช้โปรแกรมวัดค่าต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ ค่าความดันโลหิต ค่าน้ำตาลในโลหิต เพื่อส่งให้แพทย์ประเมินอาการและวินิจฉัยแนวทางการรักษา ก่อนที่ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลจะหาซื้อยาในพื้นที่หรือตัดสินใจเดินทางมารักษาตัวในศูนย์การแพทย์ที่มีเวชภัณฑ์ครบครัน [su_spacer size=”20″]
ประเทศที่มีพัฒนาการด้าน Tele-medicine ที่น่าสนใจ
เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์มาอย่างยาวนาน และในขณะที่ Tele-medicine เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขของรัฐไบเอิร์นก็ได้เริ่มนำร่องโครงการ “Telemedallianz” ที่เมือง Ingolstadt เพื่อนำ Tele-medicine มาใช้งานในพื้นที่ โดยภาครัฐและภาคเอกชนต่างร่วมกันพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบเครือข่ายการเชื่อมต่อข้อมูล ระบบโปรแกรม ที่เกี่ยวข้องกับการบริการ ความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลและสถาบันการศึกษา และการพัฒนากฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้การยอมรับจากภาคสังคม เป็นต้น [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ เยอรมนียังได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับ e-Health ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บ การใช้ และการเผยแพร่ข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ โรงพยาบาล ร้านขายยา และบริษัทประกันส่วนบุคคล เป็นต้น เพื่อประยุกต์ใช้ข้อมูลในแบบดิจิทัลให้มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ โดยเยอรมนีมีแผนจะพัฒนาบัตรสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่รวบรวมข้อมูลสุขภาพทุกอย่างเกี่ยวกับบุคคลไว้ เช่น ประวัติการรักษา การแพ้ยา แผนการรักษา และรายงานของแพทย์และวีดิโอตอนผู้ป่วยพบแพทย์ ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการจัดการทางด้าน Telematics infrastructure ซึ่งในอนาคต เมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์แล้วจะสามารถส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก Big data ได้ [su_spacer size=”20″]
โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในสาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
แม้นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เดินทางเข้ามารักษาตัวในไทยโดยส่วนมากจะเป็นคนละกลุ่มกับผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งจำเป็นต้องใช้บริการ Tele-medicine ของประเทศตนเอง แต่คงปฏิเสธมิได้เลยว่าการที่ Tele-medicine ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้รับบริการทางการแพทย์ จะเป็นความท้าทายที่ส่ง ผลกระทบต่อประเทศไทยในฐานะที่หมายปลายทางของการเดินทางมารับการรักษาพยาบาล ดังนั้น ผู้ประกอบไทยอาจพิจารณาปรับตัว นำ Tele-medicine เข้ามาให้บริการทางการแพทย์บางส่วน เช่น การขยายช่องทางให้คำปรึกษาทางสุขภาพในเบื้องต้นผ่านระบบวิดิโอออนไลน์โดยทีมแพทย์ไทยก่อนผู้ใช้บริการจะตัดสินใจเดินทางมา อาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายกลุ่มผู้ใช้บริการในต่างประเทศให้มากขึ้นก็เป็นได้ [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เดินทางเข้ามารักษาตัวในไทยมักต้องการอยู่อาศัยในไทยอีกระยะหนึ่งเพื่อพักฟื้นหรือเดินทางไปท่องเที่ยวต่อในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการแพทย์ควรพิจารณาใช้ประโยชน์จากศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวของไทยเป็นจุดขายร่วมกับความโดดเด่นด้านการแพทย์ของประเทศ ซึ่งในท้ายที่สุด ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องก็จะมีโอกาสได้รับผลประโยชน์ทั้งในแง่การเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้บริการต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นและการสร้างหรือกระจายรายได้ไปสู่ภาคธุรกิจอื่น ๆ [su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยข้อมูลผู้ใช้บริการ Tele-medicine เป็นสิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาความแตกต่างของนโยบายด้าน Tele-medicine ในแต่ละประเทศเป้าหมายเพื่อการทำงานที่ไม่ขัดต่อกฎระเบียบระหว่างประเทศ [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก