ในโลกยุคปัจจุบันที่พัฒนาการด้านเทคโนโลยีและการแพทย์มีความก้าวหน้า ส่งผลให้ประชากรโลก มีคุณภาพชีวิตดีและมีอายุยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ดี การพัฒนาดังกล่าวยังนำมาซึ่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือการเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) อันเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการเกิดที่น้อยลงในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ทำให้ประเทศในกลุ่มดังกล่าว มีประชากรในวัยทำงานลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[su_spacer size=”20″]
ตามหลักเกณฑ์ของสหประชาชาติ (Population Division ของ United Nations – UN) มีประเทศต่าง ๆ ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว (มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี ร้อยละ 7 ของจำนวนประชากร ทั้งประเทศ) อาทิ เกาหลีใต้ ไทย อินเดียและเม็กซิโก และมีประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์(มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี ร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ) ได้แก่ ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปหลายประเทศ[su_spacer size=”20″]
เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยในปี 2560 แม้การจ้างงานในเยอรมนีจะเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 6.38 แสนตำแหน่ง ทำให้มีการจ้างงานรวมกว่า 45 ล้านตำแหน่ง ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่การรวมประเทศเมื่อปี 2533 แต่กลับพบว่า ยังคงมีหลายสาขาที่ขาดแคลนแรงงานอย่างมหาศาล โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยตลาดแรงงานและอาชีพ (Institution Fur Arbeitsmarkt- und Berusforschung – IAB) ของเยอรมนีระบุว่า เยอรมนียังคงขาดแคลนแรงงานที่ใช้ทักษะเฉพาะทางหรือผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ช่างอิเล็กทรอนิกส์เชิงกล (Mechatronics) นักคณิตศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักบัญชี เจ้าหน้าที่การตลาด วิศวกร IT นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และโดยเฉพาะผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอาชีพที่ขาดแคลนมากที่สุดใน 16 รัฐของเยอรมนี กล่าวคือ มีตำแหน่งงานว่างอยู่ 100 ตำแหน่งต่อผู้ว่างงานเพียง 30 คน เท่านั้น โดยสถิติระบุว่า นายจ้างต้องใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 170 วัน หรือเกือบครึ่งปี เพื่อสรรหาแรงงานมาทำงาน 1 ตำแหน่ง [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนีหลายแห่ง เช่น Deutsche Institution fur Wirtschaftsforschung (DIW) และ lfo Munich ยังคาดด้วยว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากจำนวนแรงงานในเยอรมนียังคงมีแนวโน้มลดลงทุกปีตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและอัตราการเกิดที่ลดลง ประกอบกับแรงงานทักษะจากต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในเยอรมนียังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต[su_spacer size=”20″]
วิกฤติการขาดแคลนแรงงานดังกล่าวของเยอรมนีกลับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 2 ประการ คือ[su_spacer size=”20″]
1.แรงงานไทยที่ทำงานอยู่แล้วในเยอรมนี และแรงงานในสาขาดังกล่าวในประเทศไทยสามารถพิจารณาเข้าไปประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุในเยอรมนีได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ที่สนใจจะประกอบอาชีพดังกล่าวจะต้องเพิ่มพูนทักษะความเชี่ยวชาญที่จำเป็นเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของทางการเยอรมนีอย่างรอบคอบ เพื่อให้การประกอบอาชีพดูแลผู้สูงอายุผ่านมาตรฐานและสามารถประกอบอาชีพในเยอรมนีได้[su_spacer size=”20″]
2.การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุชาวเยอรมนีเดินทางมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่ประเทศไทย รวมทั้งเดินทางมารับบริการสุขภาพในประเทศไทยก็นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยสามารได้ประโยชน์จาก การขาดแคลนแรงงานในเยอรมนีได้ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)[su_spacer size=”20″]
แม้ปรากฏการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลกระทบในทางลบต่อจำนวนแรงงานทั่วโลก แต่วิกฤติดังกล่าวก็ยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการของไทยที่มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพควรจะต้องเร่งศึกษาถึงแนวโน้มดังกล่าวเพื่อหาลู่ทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตนต่อไป นอกจากนี้ผู้ที่สนใจที่จะไปทำงานในต่างประเทศในกลุ่มอาชีพที่ขาดแคลน และมีศักยภาพในกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ อาทิ ด้านการนวดไทย และด้านการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม (สปา) สามารถเข้าไปปรึกษาถึงโอกาสการทำงานในต่างประเทศเพิ่มเติมได้ที่ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน หรือหากผู้ที่สนใจยังไม่มีทักษะดังกล่าวแต่ต้องการพัฒนาศักยภาพเพื่อไปทำงานในต่างประเทศสามารถเข้าไปปรึกษาและเรียนรู้ที่จะฝึกอาชีพได้ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เช่นเดียวกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานและผู้ประกอบกิจการให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน