เยอรมนี ต้นแบบเทคโนโลยี 4.0 ใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ในการผลิตอาหารที่สด อร่อย ปลอดภัยและมีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคยุคใหม่
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เล็งเห็นถึงจุดแข็งด้านนวัตกรรมอาหารของเยอรมนีที่สามารถนำมาพัฒนาภาคเกษตรและอาหารของไทยได้ จึงได้จัดโครงการ “การทูตเชิงเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทย” ระหว่างวันที่ 16-21 มกราคม 2561 เยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยได้มีผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันอาหาร สมาคมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร และเกษตรกรต้นแบบ เดินทางไปศึกษาเทคโนโลยีของเยอรมนีร่วมกันที่กรุงเบอร์ลินและเมืองเดรสเดน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน[su_spacer size=”20″]
อาหารยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
การศึกษาดูงานครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้แนวทางการทำเกษตรสมัยใหม่จากทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันวิจัยของเยอรมนี อีกทั้งยังได้เข้าร่วมการประชุม Global Forum for Food and Agriculture 2018 (GFFA 2018) ทำให้ทราบว่า การเกษตรแบบก้าวหน้าไม่เพียงเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผลิตอาหารแห่งอนาคต แต่ยังต้องเป็นการเกษตรและการทำปศุสัตว์อย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการทรมานสัตว์ อีกทั้งยังส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ของสหประชาชาติอย่างรอบด้าน[su_spacer size=”20″]
แนวโน้มของตลาดเยอรมันที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม คือ การหันไปส่งเสริมการบริโภคโปรตีนจากพืชและแมลงเพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื่องจากการปลูกผักและเลี้ยงแมลงใช้ทรัพยากรในการเพาะเลี้ยง ทั้งที่ดินและอาหาร รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่น้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์หลายเท่าตัว แม้การกินแมลงยังเป็นสิ่งที่ยังรับไม่ค่อยได้ แต่เขาคิดไกลกว่านั้น โดยกำลังวิจัยหาทางสกัดโปรตีนออกจากแมลงเพื่อนำไปเป็นสารให้โปรตีนในอาหารรูปแบบต่าง ๆ แทน[su_spacer size=”20″]
Fraunhofer IVV สถาบันวิจัยประยุกต์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมอาหาร กระบวนการผลิตอาหารและบรรจุภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยี 4.0 เข้ามาช่วย ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสนใจด้านการสกัดโปรตีนจากพืชและสัตว์ และโดยที่ Fraunhofer มีสถาบันวิจัยในสาขาต่าง ๆ ถึง 72 ด้าน สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ทาง Fraunhofer จึงได้แสดงความสนใจที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทย เพื่อตอบสนองนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve ให้ครบทั้ง 10 ด้านในไทย จากที่มีในด้านอาหารเพียงด้านเดียวในขณะนี้[su_spacer size=”20″]
มาปลูกผักเลี้ยงปลากลางเมืองกันเถอะ
ในการเยือนเยอรมนีครั้งนี้ คณะได้เยี่ยมชม Infarm – Indoor Urban Farming GmbH วิสาหกิจเริ่มต้นหรือที่เรียกว่าสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ไฟแรงชาวเยอรมันที่แปลงโฉมโกดังร้างกลางกรุงเบอร์ลินให้เป็นฟาร์มปลูกผักแนวตั้ง (vertical farming) ทำให้ใช้พื้นที่น้อยและคุ้มค่า รวมทั้งตั้งอยู่ใกล้ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อหาผักที่สดสะอาดได้ง่ายและลดอัตราการเน่าเสียระหว่างการขนส่งอย่างมาก และส่งขายแก่ซุปเปอร์มาร์เก็ตผู้ค้าส่งรายใหญ่ที่สุดในยุโรปอย่างเช่น เครือ Metro และโรงแรมหลายแห่ง[su_spacer size=”20″]
สตาร์ทอัพอีกแห่งคือ ECF Farmsystems GmbH ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลินเช่นกัน ให้บริการระบบการเกษตรแบบอะควาโพนิกส์ที่ผสานการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์เข้ากับการเลี้ยงปลา เพื่อใช้ทรัพยากรในการผลิตร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ประหยัดต้นทุน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม[su_spacer size=”20″]
การดูงานการเกษตรสตาร์ทอัพของเยอรมนีทั้งสองแห่งทำให้เห็นชัดว่า การเกษตรของเยอรมนีเป็นการเกษตรแม่นยำสูง (precision farming) มีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์เพื่อให้น้ำและสารอาหารอย่างพอดี รวมทั้งควบคุมค่าแสง อุณหภูมิ ค่ากรดด่าง และความชื้น ผ่านอินเตอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี ผลิตภัณฑ์มีรสชาติดี มีคุณค่าทางสารอาหาร และสะอาดปลอดภัย เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีและยากำจัดศัตรูพืช[su_spacer size=”20″]