สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Statistisches Bundesamt – destat) เผย เศรษฐกิจเยอรมนีในปี 2560 ขยายตัวได้ต่อเนื่องร้อยละ 2.2 จากปี 2559 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 เป็นผลมาจากการลงทุนภาคเอกชน (ขยายตัวร้อยละ 3.6) การบริโภคครัวเรือน (ขยายตัวร้อยละ 3.8) อุตสาหกรรมและบริการ ICT (ขยายตัวร้อยละ 3.9) และการค้าปลีกค้าส่ง (ขยายตัวร้อยละ 2.9) ทำให้เยอรมนีมี GDP มูลค่า 3.26 ล้านล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 21 ของ GDP อียู ซึ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกรองจากสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น
เศรษฐกิจที่ขยายตัวในทุกสาขาทำให้การจ้างงานในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 44.48 ล้านตำแหน่ง ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 ประมาณ 6.38 แสนตำแหน่ง และเหลือผู้ว่างงานประมาณ 2.385 ล้านคน คิดเป็นอัตราว่างงานร้อยละ 5.3 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่การรวมชาติในปี 2533 ปัจจัยเชิงบวกต่าง ๆ ข้างต้นทำให้รัฐบาลเยอรมันเกินดุลงบประมาณกว่า 3 หมื่นล้านยูโร (ร้อยละ 1.2 ของ GDP) ซึ่งถือเป็นการเกินดุลงบประมาณที่สูงที่สุดในอียู ทำให้หนี้สาธารณะลดลงเหลือร้อยละ 64.8 ของ GDP ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
องค์ประกอบสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเยอรมนีคือภาคส่งออก โดยในปี 60 เยอรมนีส่งออกมูลค่า 1.543 ล้านล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปี 59 ร้อยละ 4.2 โดยการส่งออกไปนอกอียูเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ไปเอเชียเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ไปจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14 ทำให้จีนกลายเป็นประเทศปลายทางของการส่งออกอันดับที่ 3 แทนที่สหราชอาณาจักร เป็นรองเพียงสหรัฐฯ และฝรั่งเศส และเมื่อหักลบด้วยการนำเข้ามูลค่า 1.294 ล้านล้านยูโรแล้ว เยอรมนียังเกินดุลการค้า 2.49 แสนล้านยูโรหรือกว่าร้อยละ 7.6 ของ GDP เยอรมนีจึงเป็นประเทศที่เกินดุลสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ซึ่งทำให้สามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นถึง 4.33 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างวิเคราะห์ไปในทางเดียวกันว่า ปี 2561 เศรษฐกิจเยอรมันจะยังคงเติบโตต่อไป เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักโดยเฉพาะในอียูเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และน่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐเพิ่มเติมหลังจากมีรัฐบาลใหม่ นอกจากนี้ ปี 2561 จะยังเป็นปีของการเร่งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเงินในอียูที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสผลักดัน การเจรจา Brexit การต่อต้านกระแสกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ไปจนถึงการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล และการหาเงินทุนสำหรับ start-ups
อย่างไรก็ดี เยอรมนีกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงในปี 2561 โดยเฉพาะราคาเชื้อเพลิงอาจเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวและสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง และแนวโน้มดอกเบี้ยที่อาจเพิ่มขึ้น หากธนาคารกลางยุโรปเริ่มลดนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงกว่าร้อยละ 2 นอกจากนี้ การเป็นผู้ค้าและนักลงทุนรายใหญ่ในโลก อาจทำให้เยอรมนีเป็นเป้าของมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ เยอรมนียังจะต้องเผชิญกับปัจจัยลบภายใน คือ การขาดแรงงานอย่างรุนแรง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยังมีความไม่แน่นอน
อนึ่ง ณ เดือนพฤศจิกายน 2560 มูลค่าการค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับเยอรมนีเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การลงทุนของทั้งสองฝ่ายก็มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นกัน