สถานการณ์ในยูเครนส่งผลให้ราคาพลังงานในเยอรมนีปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศเยอรมนี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนีจึงหารือกับผู้บริหารของบริษัทหลายแห่ง และผู้แทนองค์กรต่าง ๆ เพื่อรวบรวมปัญหาและช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยรัฐบาลได้เตรียมการช่วยเหลือออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) โครงการ ‘Russlandschutzschirm’ สำหรับการช่วยเหลือเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม (2) โครงการ ‘Schutzschirm fur Energiewirtschaft’ สำหรับการช่วยเหลือด้านพลังงาน
.
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการหารือในรายละเอียด ซึ่งรูปแบบการช่วยเหลือดังกล่าวขึ้นอยู่กับกรอบ กฎระเบียบการช่วยเหลือเศรษฐกิจของ EU ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยขณะนี้รัฐบาลได้ส่งข้อเสนอไปยังคณะกรรมาธิการ EU ให้ผ่อนคลายข้อกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือของประเทศสมาชิก
.
นอกจากนี้ เยอรมนียังใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Al) แก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศใน 3 วิธี ได้แก่ (1) การใช้ AI หรือระบบ Machine Learning (ML) ช่วยระบุจุดบกพร่องในการใช้พลังงานของ supply chain รวมถึงใช้กระบวนการ Process Mining ช่วยตรวจสอบ พัฒนา และบริหารกระบวนการผลิตให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (2) การใช้ AI พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มี supply chain ที่สั้นลง เช่น การพัฒนาเครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติที่สามารถผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรทั้งหมดได้ภายในประเทศ ช่วยลดการใช้พลังงานได้ และ (3) การทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยระบบดิจิทัล ทําให้การมีความรวดเร็วและสามารถประหยัดการใช้พลังงานได้
.
จากความคืบหน้าข้างต้น ถือเป็นแนวทางที่น่าจับตามองและเป็นประโยชน์แก่ประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทยซึ่งอยู่ในระยะผลักดันนโยบายด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ โดยประเทศไทยเองมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีเป็นทุนเดิม อาจเร่งพัฒนานวัตกรรม AI เพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการผลิต ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังช่วยลดการพึ่งพาจากต่างประเทศได้อีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน