1. ภาพรวมเศรษฐกิจของ EU
.
1.1 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 สภาพเศรษฐกิจของ EU หดตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทําให้ห่วงโซ่และกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน ทั้งนี้ นโยบายทางการคลังเพื่ออุดหนุนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในยุโรป มีส่วนช่วยทําให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสฯ ระลอกที่สอง และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มข้นมากขึ้นซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอีกครั้ง นอกจากนั้น ระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากันในทุกสาขา ทําให้ภาคอุตสาหกรรมการบริการและธุรกิจสันทนาการได้รับผลกระทบมากกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมไปถึงผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย เนื่องจากผลกระทบด้านการจ้างงาน การพักงาน และรายได้ที่ลดลง
.
1.2 ถึงแม้การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสฯ มีความคืบหน้าไปมากและหลายประเทศเริ่มใช้บ้างแล้ว อย่างไรก็ดี ยังคงต้องใช้เวลาจนกว่าประชาชนจะมีภูมิคุ้มกันทุกคน ดังนั้นในระยะกลาง การฟื้นตัวของเศษฐกิจเขตยูโรจะอาศัยเงื่อนไขทางการเงินที่เอื้อประโยชน์ นโยบายการคลังแบบขยายตัว และการฟื้นตัวของอุปสงค์ อันเป็นผลมาจากการยกเลิกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และสถานการณ์ต่าง ๆ มีความแน่นอนชัดเจนขึ้น
.
1.3 การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเขตยูโร
.
1.3.1 ในปี 2563 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติแท้จริง (Real GDP) หดตัวในอัตราร้อยละ 7.3 และคาดการณ์ real GDP รายปี ดังนี้ (1) ปี 2564 ร้อยละ 3.9 (2) ปี 2565 ร้อยละ 4.2 (3) ปี 2566 ร้อยละ 2.1
.
1.3.2 อัตราเงินเฟ้อเดือน พฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ร้อยละ -0.3 ซึ่งมีอัตราคงที่จากเดือนก่อน และมีการ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อรายปี ดังนี้ (1) ปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 (2) ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 1 (3) ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 และ (4) ปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.4
.
2. นโยบายด้านการคลังของ ECB เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ที่ประชุม ECB Governing Council ได้พิจารณาและปรับนโยบายด้านการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ครั้งใหม่ ดังนี้
.
2.1 คงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ํา ดังนี้ (1) อัตราดอกเบี้ยที่ใช้สําหรับการปล่อยสภาพคล่องให้ ระบบธนาคาร (Main Refinancing Rate) ที่อัตราร้อยละ 0.00 (2) อัตราดอกเบี้ยข้ามคืนที่ให้สถาบันการเงินกู้ยืม (Marginal lending facility rate) ที่อัตราร้อยละ 0.25 และ (3) อัตราดอกเบี้ยเงินสํารองของธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้ กับ ECB (Deposit Facility Rate) ที่อัตราร้อยละ -0.50 ซึ่ง ECB จะยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ําหรือต่ําลง กว่านี้ไปจนกว่าจะมั่นใจว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสมใกล้เคียงร้อยละ 2
.
2.2 เพิ่มวงเงินโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินสําหรับโรคระบาดใหญ่ (Pandemic Emergency Purchase Programme – PEPP) อีก 500,000 ล้านยูโร เป็น 1,850,000 ล้านยูโร ขยายเวลาการซื้อสินทรัพย์ภายใต้ โครงการ PEPP ต่อไปอย่างน้อยจนถึงเดือน มีนาคม 2565 และขยายการลงทุนต่อในพันธบัตรที่ครบอายุแล้วภายใต้โครงการ PEPP ไปจนถึงสิ้นปี 2566
.
2.3 ผ่อนปรนเงื่อนไขโครงการ targeted longer-term refinancing operations – TLTRO II โดยขยายระยะเวลาออกไปอีก 12 เดือน จนถึงเดือน มิถุนายน 2565 และเพิ่มวงเงินกู้ร้อยละ 55 โดยธนาคารที่บรรลุเป้าหมายการให้ เงินกู้ที่ตั้งไว้เท่านั้นที่จะเข้าข่ายเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับธนาคารในการรักษาระดับการให้เงินกู้
.
2.4 ขยายเวลาของมาตรการผ่อนคลายหลักประกันเพื่อให้มั่นใจได้ว่าธนาคารจะสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการดําเนินงานด้านสภาพคล่องของหน่วยงาน Eurosystem โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ TLTRO II ทั้งนี้ ECB จะประเมินมาตราการผ่อนคลายหลักประกันดังกล่าวก่อนเดือน มิถุนายน 2565 เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบทางลบแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ
.
2.5 ดําเนินการรีไฟแนนซ์ระยะยาวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 (Pandemic Emergency Longer-term Refinancing Operations – PELTROS) เพิ่มเติมอีก 4 ครั้ง ในปี 2564 โดยในแต่ละครั้งจะมีระยะเวลาการผ่อนชําระประมาณ 1 ปี เพื่อสร้างสภาพคล่องให้กับระบบธนาคาร
.
2.6 ยังคงดําเนินโครงการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (asset purchase program – APP) ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing-QE) จํานวน 20 พันล้านยูโรต่อเดือน และ ECB จะดําเนินการ ซื้อสินทรัพย์ต่อไปเพื่อรักษาสภาพคล่องและจะยกเลิกมาตรการดังกล่าวเมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักของ ECB
.
2.7 ขยายเวลาการให้เงินกู้ยืมแก่ธนาคารกลาง (Eurosystem repo facility for central banks – EUREP) รวมถึงมาตรการ temporary Swap และ repo lines ให้แก่ธนาคารกลางนอกเขตยูโรไปจนถึงเดือน มีนาคม 2565
.
2.8 ยังคงดําเนินการให้เงินกู้โดยให้อัตราดอกเบี้ยคงที่
.
2.9 ECB ดําเนินนโยบายการคลังดังกล่าวเพื่อรักษาเงื่อนไขการคลังที่ดีในช่วงวิกฤตโรคระบาด โดยจะช่วยให้สินเชื่อไหลเวียนไปยังทุกภาคส่วน สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะ ปานกลาง อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดและช่วงเวลาที่จะเริ่มใช้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสฯ ในแต่ละประเทศ ยังมีความไม่แน่นอน จึงยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ECB จะยังคงติดตามพัฒนาการของอัตราแลกเปลี่ยนต่อไป เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะกลางได้ โดย ECB พร้อมที่จะปรับเครื่องมือทางการเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยับไปในทิศทางที่ได้ตั้งไว้
.
2.10 ECB ตระหนักถึงบทบาทสําคัญของกองทุน Next Generation EU และย้ําถึงความสําคัญ ในการให้กองทุนดังกล่าวสามารถดําเนินการได้โดยเร็ว และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก EU ใช้เงินทุนสําหรับการใช้จ่าย สาธารณะที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการดําเนินการตามนโยบายเชิงโครงสร้าง (Structural policies) ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งการดําเนินการดังกล่าวจะช่วยให้กองทุน Next Generation EU ทําให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น แข็งแกร่งขึ้น และไปในทิศทางเดียวกัน และจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก EU
.
ถึงอย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เศรษฐกิจห่วงกังวลถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก EU ที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยตามการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ EU Commission ในปี 2563 อัตรา GDP ของ สหพันธ์ฯ ลดลงร้อยละ 5.6 และจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.5 ในปี 2564 และร้อยละ 2.6 ในปี 2565 ในขณะที่สเปน อัตรา GDP ลดลงร้อยละ 12.4 ในปี 2563 และจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 5.4 ในปี 2564 และร้อยละ 4.8 ในปี 2565 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่แต่ละประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสฯไม่เท่ากัน และความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ความเข้มงวดของมาตรการด้านสาธารณสุขของรัฐบาล โครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และมาตรการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวของรัฐบาล
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ แฟรงก์เฟิร์ต