เมื่อปี ค.ศ. 2019 ท่าอากาศยานนครแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งเป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุด ในสหพันธ์ฯ มีผู้โดยสารใช้บริการจำนวน 70.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากปี ค.ศ. 2018 สูงเป็นสถิติใหม่และอยู่ใน ลำดับที่ 4 ของยุโรป รองจาก (1) ท่าอากาศยาน Heathrow กรุงลอนดอน (2) ท่าอากาศยาน Charles de Gaulle กรุงปารีส และ (3) ท่าอากาศยาน Schiphol นครอัมสเตอร์ดัม และมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศจำนวน 2.1 ล้านตัน มากเป็นอันดับที่ 1 ของยุโรป และอันดับที่ 11 ของโลกเป็นท่าอากาศยานที่มีการเชื่อมต่อเที่ยวบินที่ดีที่สุดเป็น อันดับ 2 ของโลก
[su_spacer]
นอกจากนี้ท่าอากาศยานนครแฟรงก์เฟิร์ตก็ยังถือเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่ในเขตไรน์-ไมน์อีกด้วย โดยมีจำนวนพนักงานสูงถึง 81,000 คน และเป็นสถานที่ทำงานที่ใหญ่ที่สุดในสหพันธ์ฯ ประกอบไปด้วยพนักงานของสายการบิน พนักงานด้านการปฏิบัติการของท่าอากาศยาน พนักงานในอากาศยานขนส่ง รวมไปถึงพนักงานรักษาความปลอดภัย โรงแรม ร้านอาหาร บริษัททำความสะอาด และร้านค้าปลีก นอกจากนี้ Official Airline Guides (OAG) ได้จัดอันดับ Connectivity Index โดยจัดให้ท่าอากาศยานนครแฟรงก์เฟิร์ตเป็นท่าอากาศยานที่มีการเชื่อมต่อเที่ยวบินที่ดีที่สุดเป็น อันดับ 2 ของโลก รองจากท่าอากาศยาน Heathrow กรุงลอนดอน จากการตรวจสอบท่าอากาศยานจำนวน 200 แห่งทั่วโลก
[su_spacer]
ท่าอากาศยานนครแฟรงก์เฟิร์ตมีสายการบินเปิดให้บริการประมาณ 100 สายการบิน และมีอาคาร รับรองผู้โดยสาร 2 อาคาร โดยอาคารรับรองผู้โดยสารหลังที่ 1 เปิดทำการในปี ค.ศ. 1972 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี มีระบบสายพานลำเลียงสัมภาระอัตโนมัติยาว 80 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับเคาน์เตอร์เช็คอินมากกว่า 430 เคาน์เตอร์ สามารถลำเลียงสัมภาระด้วยความเร็วสูงสุดถึง 18 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถคัดแยกสัมภาระได้มากกว่า 20,000 ชิ้น/ชั่วโมง และอาคารรับรองผู้โดยสารหลังที่ 2 เปิดทำการในปี ค.ศ. 1994 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน/ ปี
[su_spacer]
ท่าอากาศยานนครแฟรงก์เฟิร์ตอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารรับรองผู้โดยสารหลังที่ 3 ซึ่งมีพิธีวาง ศิลาฤกษ์ไปเมื่อเดือน เม.ย. ค.ศ. 2019 เพื่อรองรับการใช้บริการของผู้โดยสารจำนวน 25 ล้านคน/ ปี และคาดว่าการก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2023 โดยโครงการก่อสร้างนี้ยังได้คำนึงถึงโอกาสในการต่อเติมพื้นที่ ที่อาจมีขึ้น ในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ จะมีการนำระบบรถไฟไร้คนขับ (Sky Line) เปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารต่าง ๆ ในเขตท่าอากาศยาน ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางระหว่างอาคารรับรองผู้โดยสารหลังที่ 1 และหลังที่ 3 เพียง 8 นาที อย่างไรก็ดี มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งประท้วงการก่อสร้างอาคารรับรองผู้โดยสารหลังที่ 3 เนื่องจากหวั่นเกรงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากปัญหามลภาวะด้านไอเสียและเสียงรบกวนจากเครื่องบิน
[su_spacer]
การที่ท่าอากาศยานนครแฟรงก์เฟิร์ตประสบความสำเร็จในการเป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในสหพันธ์ฯ และเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางอากาศที่สำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ของยุโรป เนื่องจากความได้เปรียบด้านที่ตั้งของท่าอากาศยานซึ่งตั้งอยู่บริเวณใจกลางของสหพันธ์ฯ มีระบบคมนาคมที่สามารถเชื่อมต่อกับถนนทางหลวงได้หลายสาย รวมถึงการมีระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ที่ดี และมีระบบสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อความสะดวกสบายของผู้โดยสารในการเดินทางและใช้บริการสนามบิน อาทิ ที่จอดรถ 15,000 คัน จุดจอดรถรับส่งผู้โดยสาร บริการ Shuttle Bus ระหว่างท่าอากาศยานและโรงแรมที่พัก และสถานีรถไฟทางไกล เป็นต้น
[su_spacer]