1.ร้านอาหารไทย
ถึงแม้ร้านอาหารไทยในรัฐไบเอิร์นและรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์กจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมัน แต่ค่อนข้างไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายประจำ โดยเฉพาะค่าเช่าสถานที่ และค่าตอบแทนพนักงาน ร้านอาหารไทยที่สามารถประคองตัวได้จึงล้วนเป็นร้านอาหารที่ปรับตัวตามสถานการณ์ โดยเน้นการขายอาหารแบบ Take away หรือ Delivery แทนการให้บริการที่ร้าน อย่างไรก็ดี ร้านอาหารแต่ละร้านนั้นมีประสบการณ์ที่ต่างกันในการร่วมงานกับ Food Delivery Application ไม่ว่าจะเป็น Lieferando.de หรือ Wolt.com/de ซึ่งบางร้านได้รับการตอบรับที่ดี แต่บางร้านเลือกที่จะไม่ใช้บริการเพราะหักค่าบริการสูงมากถึงร้อยละ 30 ของราคาอาหาร อย่างไรก็ดี ทุกร้านเห็นตรงกันว่า การผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และอนุญาตให้ร้านอาหารเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ (ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2564) จะช่วยทำให้ธุรกิจฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น
.
2.ร้านนวดและสปาไทย
ร้านนวดและสปาไทยนั้นต้องปิดให้บริการยาวนานต่อเนื่องมากกว่า 7 เดือน ในขณะที่ยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าเช่าสถานที่ และค่าสาธารณูปโภค สำหรับกิจการขนาดใหญ่ที่มีสาขาทั่วนครมิวนิก และมีพนักงานมากกว่า 100 คน สามารถประคองตัวได้จากเงินช่วยเหลือของรัฐบาลเยอรมัน ในขณะที่กิจการขนาดเล็กสามารถประคองตัวได้จากการที่มีค่าใช้จ่ายประจำไม่สูงนัก และเจ้าของร้านเป็นพนักงานนวดเอง อย่างไรก็ดี ทุกร้านต่างคาดหวังว่าการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และอนุญาตให้ร้านนวดเปิดให้บริการได้ จะทำให้กิจการฟื้นตัวได้หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่
.
เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง กิจการร้านอาหารไทย และร้านนวดและสปาไทย ร้านอาหารไทยอาจฟื้นตัวได้เร็วกว่าร้านนวดไทย โดยเฉพาะหากผู้ประกอบการปรับตัวตามสถานการณ์ โดยเน้นการขายอาหารแบบ Take away หรือ Delivery แทนการเน้นบริการที่ร้าน ในขณะที่กิจการร้านนวดไทยยังต้องต่อสู้กับความกังวลของลูกค้าที่มองว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เนื่องจากจะต้องมีการสัมผัสใกล้ชิด ตลอดจนลูกค้าอาจเลือกที่จะไปท่องเที่ยวต่างประเทศหรือต่างเมืองก่อนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน และหลายประเทศได้เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว
.
จะเห็นได้ว่าธุรกิจร้านอาหารไทย และธุรกิจร้านนวดและสปาไทย ซึ่งเป็น 2 กลุ่มกิจการหลักของผู้ประกอบการไทยในเยอรมนีต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ดี หากไม่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ และรัฐบาลสามารถผ่อนคลายมาตรการคบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้มากขึ้น ธุรกิจเหล่านี้จะมีโอกาสในการกลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากประเทศไทยกลับมาสูงขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังเยอรมนีเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เป็น วัตถุดิบ ส่วนประกอบ และเครื่องปรุงอาหารไทย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ด้านสปาของไทย ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันสำหรับนวด หรือลูกประคบ นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น และคนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้าน (Work From Home – WFH) การใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์ธุรกิจทางออนไลน์จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการได้
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก