ความคืบหน้าอุตสาหกรรมยานยนต์ยนต์ของเยอรมนีในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 แบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่
.
- อียูสั่งปรับกลุ่มบริษัทผลิตรถยนต์ของเยอรมนี
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ประกาศว่าบริษัท BMW AG และบริษัท Volkswagen AG ได้ละเมิดกฎข้อบังคับกฎหมายห้ามการผูกขาดของอียู (EU-Antitrust Law) ฐานสมรู้ร่วมคิดกันจำกัดการแข่งขันใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลดมลพิษสำหรับรถยนต์ดีเซลที่ผลิตใหม่ โดยอียูเรียกเก็บค่าปรับจากบริษัท Volkswagen AG เป็นเงิน 502 ล้านยูโร และบริษัท BMW เป็นเงิน 373 ล้านยูโร ทั้งนี้ อียูมองว่าการสมรู้ร่วมคิดดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคสูญเสียโอกาสในการซื้อรถยนต์ดีเซลที่ปล่อยมลพิษน้อย อย่างไรก็ดี บริษัท Daimler AG ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์ยี่ห้อ Mercedes Benz ไม่ได้ถูกอียูเรียกเก็บค่าปรับในฐานสมรู้ร่วมคิดแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทฯ ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการยุโรปในการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสอบสวนประเด็นสมรู้ร่วมคิดกันจำกัดการแข่งขันใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลดมลพิษสำหรับรถยนต์ดีเซลที่ผลิตใหม่
.
- แนวโน้มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในเยอรมนี
เมื่อปี 2553 นาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้ตั้งเป้าผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในเยอรมนีให้ถึง 1 ล้านคัน ภายในปี 2564 โดยได้ตั้งงบประมาณจำนวนมากสำหรับสิทธิประโยชน์ในรูปของ Umweltbonus แก่ผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ในช่วงสิ้นปี 2563 จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าในเยอรมนียังไม่บรรลุเข้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ซึ่งต่อมารัฐบาลเยอรมันได้ขยายเวลาการให้เงินอุดหนุนในโครงการ Umweltbonus ไปจนถึงสิ้นปี 2564 และจะเปลี่ยนการให้เงินอุดหนุนจากรูปแบบ Umweltbonus เป็นโครงการ Innovationsprämie ในปี 2565 โดยจะเพิ่มเงินอุดหนุนจากเดิมเป็น 2 เท่า ซึ่งเงินอุดหนุนจะขึ้นอยู่กับราคารถยนต์ และชนิดของระบบขับเคลื่อนรถยนต์ โดยจะอยู่ระหว่าง 5,625-9,000 ยูโรต่อการซื้อยานยนต์ไฟฟ้า 1 คัน และจะสามารถขอรับเงินอุดหนุนได้จนถึงปี 2568 นอกจากนี้ ผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้าจะยังได้รับการยกเว้นภาษีรถยนต์ (Motor Vehicle Tax) เป็นเวลา 10 ปี ด้วย ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ Federal Office for Economic Affairs and Export Control ณ เดือน มิถุนายน 2564 มีผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 640,000 ราย และตามข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานของเยอรมนี รัฐบาลได้จ่ายเงินอุดหนุน ณ สิ้นปี 2564 แล้วถึง 1.25 พันล้านยูโร โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 การขอจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าพุ่งสูงถึงจำนวนเกือบ 149,000 คัน ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานของเยอรมนีประเมินว่าจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการจดทะเบียนในเยอรมนีน่าจะสูงถึง 7-10 ล้านคัน ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนียังได้ให้ความเห็นว่า การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นจนสามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Greenhouse Gas Emission Neutrality ภายในปี 2573 ได้ โดยรัฐบาลเยอรมันจะต้องผลักดันให้มีการขยายสถานีชาร์จยานยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากถึง 1 ล้านสถานีด้วย
.
จะเห็นได้ว่า การที่อียูมีความเข้มงวดในการนำกฎหมายห้ามการผูกขาดมาใช้นั้นถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ บริษัท ผู้ส่งออก ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถเข้าไปจำหน่ายสินค้าและแข่งขันในตลาดอียู รวมถึงตลาดเยอรมันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ประเทศไทยนั้นมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลเยอรมันให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่อาจพิจารณาปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับค่านิยมสากลด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลไทยที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญด้านนี้เช่นเดียวกัน โดยการประกาศให้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เป็นวาระแห่งชาติ และผู้ประกอบการยังสามารถพิจารณาเพิ่มการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าได้อีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน