รัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีเป้าหมายในการบรรลุ Net zero emissions โดยมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางด้านสภาพภูมิอากาศภายในปี 2588 ซึ่งเร็วกว่าที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้ 5 ปี (เดิมวางเป้าหมายไว้ภายในปี 2593) โดยตามร่างกฎหมายฉบับใหม่ของสหพันธ์ฯ กำหนดให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อยร้อยละ 65 ภายในปี 2573 อย่างน้อยร้อยละ 88 ภายในปี 2583 และลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2588 ทั้งนี้ นาง Svenja Schulze รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ อาคารและความปลอดภัยของนิวเคลียร์สหพันธ์ฯ (Bundesministerium für Umwelt Naturscutz und nukleare Sicherheit – BMU) ย้ำว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการสร้าง Generation Equity และเป็นกฎหมายที่ไม่ถ่วงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่จะมีการปรับโครงสร้างของกฎหมายให้มีความทันสมัยขึ้น โดยสหพันธ์ฯวางแผนใช้การปรับโครงสร้างด้านพลังงานเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ รัฐบาลสหพันธ์ฯ ได้อนุมัติกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศ (Climate Pact) ที่กำหนดมาตรการใหม่ๆ เช่น แผนการให้เงินอุดหนุนสำหรับการปรับปรุงอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษียานยนต์ (vehicle taxes) และเร่งผลักดันการใช้พลังงานไฮโดรเจน โดยรัฐบาลสหพันธ์ฯ ได้วางงบประมาณเพื่อโครงการด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศจำนวนกว่า 8 พันล้านยูโร
ในด้านความร่วมมือพลังงานไฮโดรเจนนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานสหพันธ์ฯ ได้ประกาศ ระหว่างการประชุม German-Russian Raw Materials Forum ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 30 เมษายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 สหพันธ์ฯ ได้ลงนามทำความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานไฮโดรเจนกับรัสเซีย โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้วางแผนจัดทำโครงการนำร่องเกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฮโดรเจนในรัสเซีย และหากโครงการประสบความสำเร็จตามแผนของกระทรวงฯ พลังงานไฮโดรเจนที่ผลิตในรัสเซียจะถูกส่งผ่านท่อก๊าซ Ostsee-Pipeline Nord Stream 2 มายังสหพันธ์ฯ โดยขณะนี้ ทั้ง 2 ประเทศกำลังเตรียมจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อประสานงานในโครงการความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งจะประกอบด้วยตัวแทนระดับสูงจากกระทรวงพลังงานของทั้งสองประเทศ โดยรัฐบาลสหพันธ์ฯ จะใช้เงินงบจำนวน 2 พันล้านยูโรที่ตั้งไว้เพื่อการนำเข้าพลังงานไฮโดรเจนจากประเทศต่างๆ สำหรับดำเนินโครงการความร่วมมือกับรัสเซีย
นอกจากนี้ รัฐบาลสหพันธ์ฯ ยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกด้านพลังงานไฮโดรเจน ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศ สหพันธ์ฯ จึงได้วางแนวนโยบาย “H2 Diplomacy – Geopolitics of the Global Hydrogen Economy” และจะทำหน้าที่เจรจาทำความร่วมมือด้านพลังงานไฮโดรเจนกับประเทศผู้ส่งออกพลังงานฟอสซิล อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ด้านพลังงานเห็นว่า การเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานไฮโดรเจนระหว่างสหพันธ์ฯ กับรัสเซียในขั้นต่อไปไม่ใช่เรื่องง่าย โดยให้มุมมองว่ารัสเซียสนใจที่จะผลิตพลังงานไฮโดรเจนโดยใช้ก๊าซธรรมชาติมากกว่าที่จะผลิตพลังงานไฮโดรเจนโดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามเป้าหมายของอียู นอกจากนี้ รัสเซียยังต้องการเป็นผู้นำในการส่งออกด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนมากกว่าที่จะเป็นผู้ผลิตโดยการนำเข้าเทคโนโลยีไฮโดรเจนจากอียูอีกด้วย
ประเทศไทยเองมีเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนพลังงานทดแทน 30% ภายในปี 2037 และมุ่งเน้นผลักดันแนวคิด BCG อย่างมาก โดยในปัจจุบัน ไทยได้มีโครงการบ้านผีเสื้อ ที่เป็น 1 ใน 32 โครงการต้นแบบ และเป็นโครงการเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานไฮโดรเจน เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือด้านพลังงานไฮโดรเจนระหว่างไทยและสหพันธ์ฯ ซึ่งรัฐบาลเบอร์ลินเองได้ประกาศกองทุนมูลค่ากว่า 9 พันล้านยูโร เพื่อพัฒนาบทบาทของไฮโดรเจนสีเขียว ที่ผลิตจากระบบพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสโตและเป็นที่ต้องการของโลกที่ต่างหันมาสนใจและลงทุนในเรื่องพลังงานยั่งยืน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยที่จะลงทุนในด้านพลังงานทดแทน ในการศึกษาและร่วมลงทุนการดำเนินงานกับสหพันธ์ฯ เพื่อผลักดันแนวคิด Mission Innovation ในด้านพลังงานทดแทนและไฮโดรเจนสะอาด โดย UNFCCC ต่อไป นอกจากนี้เยอรมนียังได้จัดตั้ง Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ) หรือ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี เพื่อดําเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย จึงสะดวกต่อผู้ที่ต้องการจะศึกษาการทำความร่วมมือ และยังสามารถนำมาพัฒนาต่อในไทยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
แหล่งที่มา:
https://www.greennetworkthailand.com/พลังงานไฮโดรเจน-cop21/
https://www.greennetworkthailand.com/siemens-รถไฟไฮโดรเจน-เยอรมนี/
https://mgronline.com/science/detail/9640000024218