ด้านกฎหมายเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ (Climate Protection Act)
.
รัฐบาลของเยอรมนี มีความต้องการที่จะเร่งส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้ดําเนินการแก้ไขกฎหมายด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ (Climate Protection Act) ซึ่งจะมีการยกระดับมาตรฐานอาคารใหม่ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้วางงบประมาณสูงถึง 8 พันล้านยูโร (Klimaschutz Sofortprogramm 2022) สําหรับนโยบายด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป เพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมและภาคพลังงาน โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมนอกชายฝั่ง อาคารประหยัดพลังงาน และโครงการ Carbon Footprint ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป โครงการระดมทุนของรัฐบาลเยอรมัน จะไม่สนับสนุนการใช้เครื่องทําความร้อนจากพลังงานฟอสซิลอีกต่อไป
.
ด้านการใช้น้ํามันเชื้อเพลิงสังเคราะห์แทนสำหรับเครื่องบิน
.
รัฐบาลเยอรมัน ได้ทำการปรับปรุงต่อเติมเครื่องบิน Airbus รุ่น A350-900 จํานวน 2 ใน 3 ลําที่ถูกจัดซื้อสําหรับใช้ในงานราชการ โดยใช้น้ํามันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ (Synthetic Fuel) แทนการใช้น้ํามันก๊าด (Kerosine) โดยบริษัท Lufthansa Technik ในนครฮัมบูร์ก นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงต่อเติมภายในตัวเครื่องบินให้ทันสมัย ซึ่งประกอบด้วย ห้องประชุม ห้องครัว ห้องน้ํา และระบบรักษาความปลอดภัย โดยใช้งบประมาณถึง 1.2 พันล้านยูโร ทั้งนี้ มีการคาดว่าเครื่องบิน 2 ลําดังกล่าวจะสามารถใช้งานได้ในฤดูใบไม้ร่วง ปี 2565 และจะเป็นเครื่องบินที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้สนับสนุนให้มีการใช้น้ํามันเชื้อเพลิงทางเลือกกับเครื่องบินโดยสารทั่วไป และ คาดหวังให้เครื่องบินโดยสารทั่วไปใช้เชื้อเพลิงทางเลือกอย่างเต็มรูปแบบได้ ภายในปี ค.ศ. 2035 โดยจะผลักดันให้มีการพัฒนาและผลิตน้ํามันเชื้อเพลิงสังเคราะห์และพลังงานทางเลือกในเยอรมนี และจะยกเว้นภาษีให้กับเครื่องบินที่ใช้พลังงานทางเลือกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หนทางสู่การใช้พลังงานทางเลือกยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน เนื่องด้วยปัจจัยเรื่องความต้องการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวในหลายด้าน เช่น การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อลดต้นทุน การพัฒนาวิธีการจัดเก็บ การขนส่ง และศูนย์กลางแจกจ่ายไฮโดรเจนสีเขียวที่สนามบิน เป็นต้น
.
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการทำแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล หรือ IKI ร่วมกับเยอรมนี เพื่อบรรเทาผลกระทบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายของ NDCs และ SDGs จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยที่ต้องการลงทุนในด้านพลังงานร่วมกับเยอรมนี เนื่องจาก ในขณะนี้ รัฐบาลเยอรมันได้อนุมัติงบประมาณกว่า 17.9 ล้านยูโร แก่รัฐบาลไทย เพื่อดำเนินแผนความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทย-เยอรมัน เป็นระยะเวลาถึง 4 ปี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังควรศึกษาเรื่องกฎระเบียบการทำฉลากสีเขียว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเยอรมนี
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://www.hausvoneden.com/sustainability/climate-protection-law-successfully-overturned-germany-as-a-pioneer-for-europe/