การประชุมอาหารและเกษตรโลก (Global Forum for Food and Agriculture – GFFA) ครั้งที่ 14 ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ภายใต้หัวข้อ “Sustainable Land Use: Food Security starts with the Soil”โดยมุ่งเน้นหารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรดินเชื่อมโยงกับระบบอาหารที่ยั่งยืน และประเด็นสภาพภูมิอากาศ (Triangel Strategy) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย European Green Deal ยุทธศาสตร์ Farm to Fork และยุทธศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Strategy) ของสหภาพยุโรป โดยมีวิทยากรจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วม ได้แก่ ภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศด้านการเกษตร ภาควิชาการ และเกษตรกรรุ่นใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น การประชุมในครั้งนี้ ยังมุ่งเน้นหารือเกี่ยวกับทิศทางและนโยบาย รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างวิทยากรในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยเน้นการพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ส่งเสริมให้เกษตรกรรับผิดชอบทรัพยากรดินโดยความสมัครใจ การถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการสู่เกษตรกร การสนับสนุนการลงทุนเพื่อการวิจัยด้านดิจิทัล รวมถึงการใช้นวัตกรรมในภาคการเกษตร เพื่อเป้าประสงค์ในการลดความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมาย 2030 UN Agenda (Sustainable Development Goals: SDGs)
.
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 รัฐมนตรีด้านการเกษตรเบอร์ลิน ยังได้จัดเวทีการประชุมระดับนานาชาติที่สําคัญอย่าง Berlin Agriculture Minister’s Conference ครั้งที่ 14 เพื่อกําหนดทิศทางนโยบายการเกษตรและอาหารของโลก ซึ่งเป็นการผลักดันการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารและขจัดความหิวโหย ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการใช้ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน เนื่องจากดินเป็นทรัพยากรที่สําคัญในการผลิตอาหาร ควบคุมความหลากหลายทางชีวภาพ และช่วยบรรเทาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
.
ในการประชุมครั้งนี้ มีรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรจาก 68 ประเทศ และองค์กร ระหว่างประเทศ 12 องค์กร เข้าร่วมการประชุมฯ สําหรับไทยได้มอบหมาย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีฯ เป็น closed session ซึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตในการเข้าร่วมโดยตรงจากผู้จัด
.
ด้านสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ นาย Cem Ozdemir รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาหารและเกษตรแห่งสหพันธ์ฯ ได้เน้นย้ำในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. ความสำคัญของทรัพยากรดิน
– ดิน เป็นทรัพยากรที่มีความสําคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก และช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการผลิตอาหารของโลกกว่าร้อยละ 90 ของต้องใช้ดิน และดินยังเป็นที่กักเก็บคาร์บอนอีกด้วย ดังนั้น สุขภาพของดินที่แข็งแรงและอุดมสมบูรณ์ จึงสามารถช่วยลดความแห้งแล้งและความหิวโหยของประชากรโลก ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม ลดต้นทุนการผลิต และช่วยอนุรักษ์พืชและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ฯ นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสําคัญในการผลักดันให้โลกจําเป็นต้องมีความมั่นคงทางอาหาร
.
2. การบริหารจัดการดิน
– ปัจจุบันทั่วโลกประสบปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน (Land Degradation) การเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงซึ่งส่งผลต่อภัยแล้งและการเกิดน้ำท่วม ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรดินด้วยการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้นวัตกรรมใหม่ในการทําการเกษตร เน้นการลงทุนในระยะยาว เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดินไปยังเกษตรกรและส่งเสริมสิทธิพื้นฐานในการถือครองที่ดินรวมถึงโอกาสในการเข้าถึงที่ดินทํากินอย่างเท่าเทียมกัน
.
ด้านนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงประเด็นสําคัญ ดังนี้
.
- ประเทศไทยได้ดําเนินการบริหารจัดการดินอย่างยั่งยืน โดยมีเจตนารมย์สนับสนุนการทํางานภายใต้กรอบคณะรัฐมนตรีนานาชาติต่าง ๆ
- จัดทําเป้าหมายความสมดุลของการจัดการทรัพยากรดิน ด้วยการบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจริงผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนและบูรณาการทุกภาคส่วน
- จัดทําข้อมูลที่ดินด้านกายภาพในการพัฒนาระบบแผนที่เกษตร เพื่อกําหนดพื้นที่เพาะปลูก การปลูกพืชเศรษฐกิจตามชั้นความเหมาะสมของดิน
- ต่อยอดโครงการหมอดินโลกของ FAO และสมัชชาของโลก จากเครือข่ายหมอดินอาสาของไทยผู้มากประสบการณ์ ซึ่งประเทศไทยยินดีแลกเปลี่ยนและร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาในทุกระดับเพื่อให้เกิดความสมดุลของการจัดการทรัพยากรดิน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2030
.
3. โครงการ Young Farmer
– กระทรวงอาหารและเกษตรแห่งสหพันธ์ฯ ยังได้จัดโครงการ Young Farmer เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเกษตรกรได้สะท้อนปัญหาจากประสบการณ์ตรง โดยในปีนี้ ได้มุ่งเน้นการเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ควรต้องได้สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรดินอย่างเท่าเทียม และการพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน รวมทั้งการเรียกร้องให้สังคมเมืองเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการพัฒนาทรัพยากรดินโดยถือเป็นพันธกรณีของรัฐบาลในการดําเนินการดังกล่าวด้วย
.
จากแนวทางการพัฒนาทรัพยากรดินเชื่อมโยงกับระบบอาหารที่ยั่งยืนข้างต้น นับเป็นตัวอย่างการดำเนินงานที่มีประโยชน์ที่ไทยอาจสามารถนำมาปรับใช้กับภาคการเกษตรได้ ไม่่ว่าจะเป็นการปลูกข้าว พืชผักชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย โดยนอกจากจะเป็นการเพิ่มคุณภาพให้กับผลิตผลไทยแล้ว ยังเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาวอีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน