เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าพลังงานจากรัสเซียค่อนข้างสูงตลอดเวลาที่ผ่านมา ซึ่งผลกระทบจากวิกฤติพลังงานจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ต่างกระทบต่อภาคธุรกิจของเยอรมนีด้วยเช่นกัน โดยหนึ่งในรัฐที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้ คือ รัฐไบเอิร์น และรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์ก ที่เป็นหนึ่งในรัฐที่มีความมั่งคั่งเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ โดยจากการที่รัฐมนตรีพบหารือกับตัวแทนบริษัทยานยนต์เกี่ยวกับผลกระทบที่ได้รับจากสถานการณ์ในยูเครน และมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย พบว่า บริษัทต่างประสบปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน การขนส่ง และการผลิตของโรงงานในยูเครนต้องหยุดชะงักลง รวมถึงปัญหาขาดแคลนส่วนประกอบและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เทําให้บริษัทต้องหยุดสายการผลิตบางส่วนลง
.
ด้านรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์กนั้น ปัจจุบันมีบริษัทของรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์กประมาณ 540 รายที่มีการดําเนินธุรกิจในยูเครน ประมาณ 1,000 รายในรัสเซีย และอีกประมาณ 280 รายในเบลารุส โดยส่วนใหญ่กําลังประสบคล้ายคลึงกับปัญหาที่ผู้ประกอบการในรัฐไบเอิร์น คือ ปัญหาด้านการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานของวัตถุดิบที่ต้องหยุดชะงักลง รวมถึงประเด็นราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
.
ดังนั้น กระทรวงของทั้ง 2 รัฐจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลกลางเยอรมนีเร่งสํารองพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะสําหรับฤดูหนาวครั้งหน้า เพื่อไม่ให้ภาระค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ผู้ประกอบการและประชาชน รวมถึงได้ประสานกับหอการค้าในพื้นที่จัดตั้งศูนย์ให้ข้อมูลช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านการขนส่งและห่วงโซ่การผลิตในยูเครนเป็นการเฉพาะด้วย ขณะที่ภาคเอกชน เห็นว่า รัฐบาลควรพิจารณามาตรการผ่อนคลาย เช่น การลดภาษีพลังงาน และค่าไฟฟ้าสําหรับภาคอุตสาหกรรมลง เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของภาคอุตสาหกรรมในขณะนี้ด้วย
.
สถานการณ์ในยูเครนยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของรัฐไบเอิร์นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อของราคาน้ํามันสําหรับทําความร้อนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 52.4 และอัตราเงินเฟ้อของราคาเชื้อเพลิงอื่น ๆ ที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 26.6 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในภาพรวมเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ส่วนอัตราเงินเฟ้อของราคาน้ํามันทําความร้อนอยู่ที่ร้อยละ 6.6 และ อัตราเงินเฟ้อของราคาเชื้อเพลิงอื่น ๆ ที่ร้อยละ 3.6 สําหรับอัตราเงินเฟ้อของสินค้าและมูลค่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยเฉพาะอาหาร ประเภทะผักและเนื้อสัตว์ ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 7.4 ภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.2 และสินค้าเทคโนโลยีต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 10.8
.
นอกจากนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจพลังงานแห่งรัฐบาเดิน เวือร์ทเทมแบร์กยังได้เตรียมปรับปรุงและพัฒนาระบบโครงข่ายสายไฟฟ้าให้เป็นแบบ Smart Grid เพื่อเตรียมพร้อมสําหรับการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต โดย จะถูกออกแบบมาเพื่อการสํารองไฟและจ่ายไฟแบบกระจาย เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการตั้งแต่จุดกําเนิดกระแสไฟฟ้า ไปจนถึงระบบการจ่ายไฟไปยังผู้ใช้งาน รวมทั้งเพื่อให้สามารถรองรับการใช้พลังงานทางเลือก เช่น พลังงาน จากกระแสลมและพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากขึ้นกว่าโครงข่ายสายไฟฟ้า และการสํารองพลังงานในรูปแบบเดิม ซึ่งปัจจุบัน โครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการวิจัยของของรัฐบาล ร่วมกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยหลายแห่งในพื้นที่
.
ด้านการนําเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล สำนักงานสถิติแห่งรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์กรายงานว่า ในปี 2564 รัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์กนําเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล 19.5 ล้านเมตริกตัน โดยในจํานวนนี้ เป็นการนําเข้าน้ํามันดิบ 12 ล้านตัน (ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 9) ก๊าซธรรมชาติ 339.4 ล้านตัน (ลดลงจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 39) และถ่านหิน 6 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 37) โดยรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์กนําเข้าน้ํามันดิบจากลิเบียมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็น รัสเซีย สหรัฐฯ คาซัคสถาน และอิรัก และนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินจากรัสเซียมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรีย
.
จากวิกฤติในครั้งนี้ส่งผลให้ประเทศยุโรปต้องหาหนทางลดพึ่งพาพลังงานและน้ำมันจากรัสเซียให้ได้ไวที่สุด ซึ่งถึงแม้จากยากลำบากในช่วงแรก แต่กลับเร่งผลักดันหาทางออกด้านความยั่งยืนของพลังงานในระยะยาว โดยเชื่อมโยงแหล่งพลังงานกับประเทศอื่น และใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น รวมถึงกระบวนการออกใบอนุญาตโครงการผลิตพลังงานทดแทนให้สะดวกยิ่งขึ้นอีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยประสบจากการทำธุรกิจกับเยอรมนีอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้น ไปจนถึงการขาดช่วงต่อด้านการผลิตในระยะนี้ แต่เยอรมนีและทั่วโลกต่างเร่งหาทางออกสำหรับภาคธุรกิจทั้งรัฐ และเอกชน และเชื่อว่านี่จะนำไปสู่การเร่งรัดสู่สังคมที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว และผู้ประกอบการไทยก็ควรปรับตัว โดยอาจเริ่มจากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลให้น้อยลง ประหยัดทรัพยากรและพลังงาน ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนมากขึ้นตามกระแสของโลก
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก
.
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_19Mar2022.aspx