เมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2566 มหาวิทยาลัยเทคนิคนครมิวนิก (Technical University of Munich: TUM) วิทยาเขต Freising-Weihenstephan ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของนครมิวนิกที่ได้ทําการทดลองปลูกข้าวสาลีพันธุ์พิเศษจากองค์การ NASA ในสภาพแวดล้อมเสมือนในอวกาศ โดยเป็นการปลูกโดยปราศจากแสงอาทิตย์ สารเคมี และดินจริง รวมถึงวิธีการปลูกในแนวดิ่งซ้อนเป็นชั้นแทนการปลูกในแนวราบซึ่งช่วยแก้ปัญหากาขาดแคลนพื้นที่ทําการเกษตรได้ ที่ผ่านมาเยอรมนีมีการปลูกพื้นแนวดิ่งในเชิงพาณิชย์แล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการปลูกผักสลัดและสมุนไพรเท่านั้น การทดลองปลูกข้าวสาลีในสภาพแวดล้อมอวกาศแบบแนวดิ่ง นี้จึงถือเป็นเรื่องใหม่สําหรับเยอรมนี โดยข้าวสาลีสายพันธุ์ NASA ใช้เวลา 60 – 70 วันในการเจริญเติบโตจนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และสามารถปลูกได้ถึง 6 ครั้งต่อปี และให้ผลผลิตมากกว่าที่ได้จากการปลูกตามปกติบนพื้นดินหนึ่งพันเท่า เพราะสามารถปลูกซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างไรก็ดี ข้อเสียคือต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ยังคงสูงเนื่องจากการใช้หลอดไฟ LED จํานวนมาก เพื่อสร้างแสงแดดเสมือนจริงตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น แม้จะมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในโรงเรือนแต่ก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเกษตรสีเขียวอย่างแท้จริงเนื่องจากยังมีประเด็น carbon footprint จากการผลิตแผงโซล่าเซลล์ ด้วยเหตุนี้ จึงยังต้องใช้เวลาอีก 5 – 10 ปีในการคิดค้นเพื่อให้การเกษตรรูปแบบดังกล่าวตอบโจทย์การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล
ด้านทิศทางอุตสาหกรรมเหล็กและอิเล็กทรอนิกส์ สื่อโทรทัศน์ช่อง SAT ได้รายงาน การเพิ่มขึ้นของจํานวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเหล็กและอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐไบเอิร์นประจําปี 2566 ว่า มีเพิ่มขึ้นถึง 11,000 คน ซึ่งเป็นจํานวนสูงที่สุดที่เคยมีมา ทําให้รัฐฯ มีแรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวรวมกว่า 873,000 คน อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่าในระยะต่อจากนี้อาจจะเกิด trend reversal ที่อุตสาหกรรมดังกล่าวจะลดการจ้างงานลงเพื่อมองหาโอกาสการขยายธุรกิจไปผลิตในต่างประเทศที่มีต้นทุนพลังงานและค่าจ้างแรงงานที่ต่ํากว่าและกระบวนการทางราชการที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าแทน โดย SAT รายงานว่า จากการสํารวจพบว่าร้อยละ 50 ของบริษัทในรัฐไบเอิร์นมีแผนขยายการเจริญเติบโตทางธุรกิจกําลังมองหาการขยายการลงทุนในต่างประเทศแทน หากรัฐฯ ยังไม่สามารถจัดการปัญหาต้นทุนพลังงานได้ โดยแนวโน้มการไหลออกของฐานการผลิตของภาคเอกชนของรัฐฯ ไปต่างประเทศจะเริ่มเห็นได้ชัดมากขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน ของปี 2567 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ รัฐบาเดิน – เวือร์ทเทิมแบร์ค ได้ประกาศอนุมัติการดําเนินโครงการ “Megastack BW” ของศูนย์พลังงานแสงอาทิตย์และการวิจัยพลังงานไฮโดรเจนแห่งรัฐฯ (Zentrums für Sonnenenergie- und Wasserstoff Forschung Baden-Wurttemberg: ZSW) ที่ร่วมกับเครือข่ายหุ้นส่วนเอกชนอีกจํานวนหนึ่ง โดยโครงการฯ มีเป้าหมายในการเร่งพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีอิเล็กโทรลิซิสของรัฐฯ ให้สามารถนําไปสู่ความคุ้มทุนในการผลิตไฮโดรเจนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมได้โดยเร็วมากขึ้น ซึ่งรัฐบาเดิน – เวือร์ทเทิมแบร์คร่วมสนับสนุนเงินทุนสําหรับโครงการดังกล่าวจํานวน 9 แสนยูโรด้วย ทั้งนี้ การอุดหนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กโทรลิซิสเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สําคัญของรัฐฯ ในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันส่งออกเทคโนโลยีดังกล่าวกับประเทศอื่น รวมถึงเพื่อใช้เป็นข้อแลกเปลี่ยนในการนําเข้าไฮโดรเจน จากประเทศต่าง ๆ ในอนาคตด้วย
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์