แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หลังจากเผชิญภาวะซบเซาในปี 2566 หลายสํานักคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเยอรมนี มีสัญญาณฟื้นตัวในปี 2567 โดยหน่วยงานสําคัญได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมนี ดังนี้
- กระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการทางสภาพภูมิอากาศเยอรมนี (BMWK) คาดการณ์ว่า ปี 2567 เศรษฐกิจเยอรมนี จะขยายตัวร้อยละ 1.3 แม้ว่าจะคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 1/2567 เศรษฐกิจเยอรมนีจะมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์และดัชนีราคาผู้บริโภคที่ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง
- ธนาคารกลางเยอรมนี (Deutsche Bundesbank) คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.4
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.5
- OECD คาดการณ์ว่าจะเติบโตร้อยละ 0.6
ปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนการฟื้นตัว ได้แก่ (1)อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและกําลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือน (2)การสนับสนุนการลงทุนและการให้แรงจูงใจในด้านการเงินของภาครัฐสําหรับการลงทุนในธุรกิจสีเขียว
ขณะเดียวกันนโยบายด้านการคลังของเยอรมนี ทั้งการยกเลิกการดําเนินนโยบายการคลังแบบสมดุลและการสนับสนุน ทางการเงินผ่านกองทุนพิเศษต่าง ๆ รวมถึงกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ถือว่าจะเป็นส่วนสําคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี ด้วยเช่นกัน
แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงอาจสร้างแรงกดดันต่อการลงทุนในที่อยู่อาศัยและการส่งออก สินค้าเพื่อการลงทุน (investment goods) แต่การลงทุนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากแรงหนุนของการลดต้นทุน ทางธุรกิจและการย้ายฐานการผลิต การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และการขยายตัวของการใช้พลังงานหมุนเวียน ในขณะที่การส่งออก จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากความต้องการของตลาดโลกที่แข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเยอรมนี จะยังคงเผชิญกับ ความท้าทายจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเข้มงวดของนโยบายการคลังอาจเป็น อุปสรรคต่อการลงทุนและการบริโภคเอกชน
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ และรายได้ของประชากรที่สูงขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจช่วยบรรเทาปัจจัยด้านลบในปี 2567 และ ผลักดันให้เศรษฐกิจภายในเยอรมนี ฟื้นตัวได้
โอกาสและความท้าทายของไทย
เยอรมนียังคงมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อความร่วมมือด้านการค้า เศรษฐกิจ และแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เพื่อลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบริษัทเยอรมนีเข้ามาลงทุน/ตั้งฐานการผลิตเป็นเวลายาวนาน แต่ไทยก็จําเป็นต้องพัฒนาศักยภาพและปรับตัวให้เข้ากับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบโจทย์ค่านิยม (Value) ของบริษัทเยอรมนีในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม/ความยั่งยืน รวมถึงการปรับตัวเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ทั้งดิจิทัล นวัตกรรม พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เยอรมนี ให้ความสนใจในขณะนี้
นอกจากนั้น บริษัทเยอรมนีขนาดใหญ่หลายบริษัทได้ปรับพอร์ตธุรกิจหันมามุ่งความสนใจในสาขาเหล่านี้มากกว่าการสนใจอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิม ขณะเดียวกันในการลดต้นทุนการผลิต บริษัทเยอรมนีส่วนหนึ่งจึงกําลังมองหาฐานการผลิตใหม่ ซึ่งหากไทยสามารถพัฒนา incentive package ที่ชัดเจนอาจจะสามารถดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไทยควรพิจารณานโยบายส่งเสริมการลงทุนของคู่แข่งนอกภูมิภาคเอเชียด้วย ทั้งสหราชอาณาจักร และภายใน EU เอง เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนเยอรมนีจํานวนหนึ่งเห็นโอกาสในการขยาย/ย้ายฐานการลงทุนไปยังสหราชอาณาจักร เนื่องจาก Inflation Reduction Act ที่ให้สิทธิประโยชน์ที่น่าดึงดูดกว่า หรือลงทุนภายใน EU เอง เนื่องจาก EU มีการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ให้แก่บางภาคอุตสาหกรรม อาทิ semiconductors เพื่อป้องกัน supply chain disruption จากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ไทยค่อนข้างมี Ease of doing business ที่มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับ EU ประสบผลสําเร็จ FTA จะเป็นอีกปัจจัยสําคัญที่ช่วยดึงดูดความสนใจ
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
เรียบเรียง ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์