International Trade Fair – Ideas, Inventions and New Products หรือ iENA เป็นงานจัดแสดงและประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมใหม่ ๆ จากทั่วโลก จัดโดยนาย Thilo และ Henning Knicke ซึ่งสืบทอดเจตนารมณ์ในการจัดงานดังกล่าวจากบิดาที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2491 ที่เมือง Nürnberg รัฐไบเอิร์น และได้จัดต่อเนื่องเป็นประจําเกือบทุกปี โดยนอกจากนักวิจัยและนักประดิษฐ์แล้ว งานฯ ยังดึงดูดนักลงทุน ผู้ประกอบการตัวแทนจําหน่าย ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม และองค์กรสิทธิบัตรต่าง ๆ เช่น The German Patent and Trademark Office (DPMA) European Union Intellectual Property Office (EUIPO) European Patent Office (EPO) และ World Intellectual Property Organization (WIPO) เข้าร่วมชมผลงานของ นักวิจัยและนักประดิษฐ์จากทั่วโลกด้วย อนึ่ง ประเทศไทย ได้ร่วมเป็น official partner ของการจัดงาน IENA 2022 ครั้งนี้ด้วย
สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้สนับสนุนการนําผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ของไทยไปจัดแสดงและประกวดในงาน iIENA ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา (ยกเว้นปี 2563 2564 ที่ไม่สามารถเข้าร่วมได้เนื่องจากข้อจํากัดในการเดินทางจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) ซึ่งที่ผ่านมานักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยได้สร้างผลงานที่เป็นที่ยอมรับและ ได้รับรางวัลจากงานดังกล่าวจํานวนมาก โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผลงานเข้าร่วมจัดแสดงและประกวดในงาน IENA 2022 ของสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ คือ
- ต้องเป็นนวัตกรรมใหม่และมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถใช้งานได้จริงและง่ายต่อการใช้งาน มีหลักการออกแบบที่น่าสนใจ
- เป็นผลงานที่มีความชาญฉลาดในการวิจัยและการประดิษฐ์ โดยวัดระดับความชาญฉลาดจากการเทียบกับผลงานหรือวิทยาการเดียวกัน
- เป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการของประเทศ และสามารถนําไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวางในต่างประเทศ
- ต้องไม่เป็นผลงานที่ลอกเลียนแบบผลงานของผู้อื่น และไม่เคยนําเข้าร่วมประกวดหรือจัดแสดงในเวทีนานาชาติมาก่อน หากเคยต้องเป็นผลงานที่มีการพัฒนาต่อยอด ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงวิธีการหรือกระบวนการ ได้ผลผลิตที่มี ความแตกต่างไปจากเดิม
ในปีนี้ สํานักงานการวิจัยแห่งชาติได้นําผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวดกว่า 29 ผลงานจากสถาบันและหน่วยงานในไทยกว่า 10 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำหรับผลการเข้าร่วมประกวด นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยได้รับรางวัลเหรียญทอง 10 ผลงาน เหรียญเงิน 13 ผลงาน และเหรียญทองแดง 6 ผลงาน จากทั้งสิ้น 500 ผลงานจาก 20 ประเทศที่ส่งเข้าร่วมประกวด
โอกาสของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย
สิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยหลายผลงานสามารถนําไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ ในหลายประเทศรวมถึงในเยอรมนีและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยุโรปทั้งเรื่อง (1) การแพทย์และการดูแลสุขภาพ (2) การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์และเอื้อต่อการส่งเสริม เศรษฐกิจ (3) การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียน และ (4) เกษตรอินทรีย์ โดยผลการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์หลายชิ้นได้เริ่มพัฒนาต่อยอด เป็น startup เพื่อสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยบ้างแล้ว
ในอนาคต หากผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ของไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับการพัฒนาต่อยอดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก็จะสามารถนําไปสู่การสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้แก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ และ เศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปด้วย
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์