World Economic Forum Annual Meeting 2023 หรือ WEF ได้กลับมาจัดประชุมแบบพบหน้าอีกครั้งเมื่อวันที่ 16-20 มกราคม 2566 หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยครั้งนี้จัดประชุมในหัวข้อ Cooperating in a Fragmented World มีผู้นำจาก 52 ประเทศ และผู้แทน/ผู้บริหารระดับสูงกว่า 2,700 คนเข้าร่วม รวมถึงผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก IMF ธนาคารกลางยุโรป เป็นต้น โดยสรุปประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก
นาย Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง WEF ได้กล่าวถึงสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่ไม่มีความมั่นคง มีอำนาจกระจายกลาดเกลื่อน (messy patch of powers) ในพื้นที่ต่าง ๆ จากความพยายามเสริมสร้างอำนาจให้แก่ตน สอดคล้องกับมุมมองของเลขาธิการสหประชาชาติที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่เกิดรอยแยกเป็นฟาก เป็นกลุ่มต่าง ๆ และรอยแยกมีขนาดใหญ่มากขึ้นทั้งในระบบการค้า การเงิน การพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลกระทบให้เสถียรภาพโดยรวมของโลกถดถอยลงไป อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นสำคัญของโลกที่ประเทศต่าง ๆ สามารถร่วมมือกันได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ความร่วมมือด้านการค้า และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี
2. ด้านเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโลก
ที่ประชุมส่วนใหญ่มีมุมมองว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยในปี 2566 โดย World Bank ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจาก 3% เป็น 1.7% เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกได้กระชับนโยบายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อสูง สถานการณ์ทางการเงินที่น่าเป็นห่วง และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้โลกยังไม่สามารถขจัดความยากจนได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ทั้งนี้ รายงานจาก IMF ระบุว่า หนี้ทั่วโลกสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2565 (235 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้น้อยจะมีสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากหนี้ภาคเอกชน ขณะเดียวกัน หลายประเทศได้ดำเนินนโยบายย้ายฐานการผลิตกลับมายังภูมิภาคตนเอง (regionalization) หรือกระบวนการส่งกลับการผลิตและการผลิตสินค้ากลับไปยังประเทศของตัวเอง (on-shoring) เป็นผลให้เกิดมาตรการป้องกันทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีตลาดการค้า
3. ด้านสิ่งแวดล้อม
การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่นำไปสู่ความไม่มั่นคงทางพลังงาน เป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องที่เร่งให้โลกต้องปรับตัวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) การใช้พลังงานหมุนเวียนให้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ หลายประเทศทั้งในยุโรปและจีนกำลังเร่งเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มเสถียรภาพความมั่นคงทางพลังงานภายในประเทศ และเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมโลก
4. ประเด็นอื่น ๆ ที่น่าจับตามอง
Cryptocurrency หนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกจากภาคเอกชนซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าควรประเมินประโยชน์ของเทคโนโลยี blockchain ให้มากขึ้น และต้องมีการควบคุมสกุลเงินดิจิทัลอย่างจริงจัง มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับสกุลเงินดิจิทัล นอกจากนี้ ประเด็นของ Metaverse WEF มีมุ่งมั่นสร้าง Global Collaboration Village ร่วมกับ Microsoft และ Accenture โดยใช้ระบบโลกเสมือน (virtual reality) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี ‘Founding Village Partners’ 80 ราย อยู่ในระหว่างการสร้างพื้นที่ในโลกเสมือน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ในอนาคต
บทบาทของภูมิภาคต่าง ๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก
อาเซียน
– สภาวะทางเศรษฐกิจของอาเซียนเริ่มฟื้นฟูมากขึ้น โดยคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2566 อยู่ที่ 5.2% อัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำ และการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน
ลาตินอเมริกา
– โคลัมเบียและบราซิล แสดงวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยโคลัมเบียต้องการสร้าง grid พลังงานไฟฟ้าจากปาตาโกเนียถึงอลาสกา ซึ่งจะทำให้ประเทศแถบลาติอเมริกาจำหน่ายไฟฟ้าให้ประเทศอเมริกาเหนือได้ ขณะที่บราซิลมีความมุ่งมั่นในการเป็นศูนย์กลางของพลังงานสะอาด
แอฟริกา
– แอฟริกาต้องเพิ่มการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยต้องก้าวผ่านความท้าทายเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด และค่าครองชีพที่สูง โดยเน้นย้ำเรื่องระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ขาดความเท่าเทียม อย่างไรก็ดี แอฟริกายังมีศักยภาพเพราะมีประชากรรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นและความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีชนชั้นกลางขนาดใหญ่ ตลาดผลิตภัณฑ์และบริการมีความหลากหลาย และมีกระบวนการเปลี่ยนถ่ายจากชนบทสู่เมืองที่รวดเร็ว จึงอาจเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับภูมิภาคไม่เพียงแต่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่อาจรวมถึงในด้านอื่น ๆ ด้วย
คณะผู้แทนถาวรฯ ณ นครเจนีวา
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์