เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 เยอรมนี ได้จัดสัมมนา “Future Forum Green Hydrogen: Geopolitics of Decarbonization and Net-Zero Economies” โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
งานสัมมนา “Future Forum Green Hydrogen: Geopolitics of Decarbonization and Net-Zero Economies” เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ H2-diplo ที่ริเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 โดยกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี โดยงานสัมมนาดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีการหารือและสร้างเครือข่ายระหว่างภาควิชาการและผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งให้ความสำคัญกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการนําเข้าพลังงานของเยอรมนีและสหภาพยุโรป โอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมจาก climate actions ของประเทศกําลังพัฒนาที่ส่งออกไฮโดรเจนสีเขียว
สำหรับเยอรมนี จากที่รัฐบาลได้มุ่งส่งเสริมการยุติการใช้พลังงานฟอสซิลและการเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกทั่วโลก กระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีจึงได้มีการกล่าวเน้นย้ำถึง (1) การเปลี่ยนผ่านพลังงานสร้างทั้งโอกาสและความท้าทายให้กับตลาดพลังงาน รวมถึงการค้าในภาพรวม (2) การบริหารจัดการอย่างเหมาะสมโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ และความเชื่อมโยงทางนโยบายตลาดพลังงานสะอาด และ (3) สำหรับเยอรมนีและสหภาพยุโรปเอง จำเป็นต้องพึ่งพาการนําเข้าพลังงานไฮโดรเจน โดยคาดว่าปี ค.ศ. 2030 จะมีการนําเข้าถึง 2 ใน 3 ของความต้องการใช้พลังงานไฮโดรเจนในประเทศ จึงกำหนดยุทธศาสตร์นําเข้าที่ให้ความสำคัญกับอุปทานและพันธมิตรด้านพลังงาน โดยสร้างกลไกความร่วมมือด้านไฮโดรเจนระหว่างประเทศที่มีห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ เทคโนโลยี การสร้างงาน การลงทุน เงินทุนสนับสนุน โดยคำนึงถึงการพัฒนาของตลาดในประเทศที่ส่งออก
โดยที่ผ่านมา เยอรมนีได้มีการเร่งขยายการพัฒนาไฮโดรเจนสีเขียวด้วยแล้วแต่ยังช้ากว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ดี เยอรมนีมองว่า การใช้ไฮโดรเจนสีฟ้าอาจเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้จึงต้องมีการพิจารณายุทธศาสตร์สำหรับไฮโดรเจนสีฟ้าในอนาคต (ในการปรับปรุง Hydrogen Strategy เมื่อปี ค.ศ. 2023 ได้เพิ่มไฮโดรเจนสีฟ้าเป็นทางเลือกสำหรับการขยายตลาดไฮโดรเจน) แม้จะมีความเห็นบางส่วนไม่สนับสนุนเนื่องจากกระบวนการผลิตไฮโดรเจนสีฟ้ามาจากก๊าซธรรมชาติและกระบวนการ CCS ที่ยังไม่สมบูรณ์
ด้านนักวิจัยจากสถาบัน Clingendael Institute และนักวิชาการจาก University of Minnesota ยังได้แลกเปลี่ยนและกล่าวถึง (1) การเปลี่ยนผ่านพลังงานกับภูมิรัฐศาสตร์จากมุมมองของกลุ่มต่าง ๆ เช่น ความต้องการการพัฒนา (ประเทศกลุ่ม Global South) การรักษาความเป็นอิสระด้านพลังงาน (ประเทศกลุ่ม Global North) และ economic diversification (ผู้ส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิล) ซึ่งทั้งหมดมีผลต่อความเร็วและขอบเขตของการเปลี่ยนผ่านพลังงานทั่วโลก และ (2) การเปลี่ยนแปลงฉากทัศน์ของภูมิรัฐศาสตร์ด้านพลังงานที่เกี่ยวโยงกับพลังงานทางเลือก เช่น (1) ผู้ใช้พลังงานสามารถเป็นผู้ผลิตพลังงาน (proconsumer) เกิดความสัมพันธ์ด้านพลังงานที่สมดุลมากขึ้น (2) เกิดทรัพยากรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับการผลิตพลังงานทางเลือกและการพึ่งพาอาศัยในห่วงโซ่การผลิต และเกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคโดยการวางเครือข่ายขนส่งพลังงาน (3) เกิด creative destruction จากการเลิกการใช้พลังงานฟอสซิลและการแข่งขันในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับพลังงานทางเลือก และ (4) การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์รองรับทั้งในประเทศและธรรมาภิบาลในระดับโลก โดยอยู่ในลักษณะเดียวกันกับการมีระเบียบเพื่อควบคุมการแพร่ขยายนิวเคลียร์
สรุป
จากข้างต้น การเปลี่ยนผ่านพลังงานกับเสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ควรมีความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยเฉพาะการเข้าถึงทรัพยากรที่สำคัญ (new materials) และการเป็นผู้นําทางเทคโนโลยี อีกทั้งยังรวมถึงการเกิดการเปลี่ยนสถานะของผู้ที่สามารถผลิตไฮโดรเจนเป็นผู้ส่งออกพลังงาน การเกิดการเปลี่ยนแปลงการค้าในรูปแบบใหม่ (clean trade) ที่อุตสาหกรรมต้องปรับตัวให้พร้อมกับกฎระเบียบใหม่เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
สำหรับประเทศกําลังพัฒนา จำเป็นต้องมีการปรับตัว จึงต้องอาศัยมาตรการด้านการเงินเพื่อสนับสนุนและจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เช่น กรณีของคาซัคสถาน ในฐานะประเทศที่มีการผลิตพลังงานจากฟอสซิลที่เข้าเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานของเยอรมนี โดยเห็นโอกาสการพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อเป็น supply ให้แก่โลก ในขณะที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสหภาพยุโรป โดยใช้มาตรการด้านภาษีเพื่อเป็น incentive แก่บริษัทเอกชนและอุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดการลงทุนจากประเทศในสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ในส่วนของเศรษฐกิจไฮโดรเจน ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกพลังงานรายใหม่ อาทิ แอฟริกา อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลในเรื่องของความเสี่ยงในการกระจายผลประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมและเครื่องมือทางการค้า เช่น CBAM อาจกระทบประเทศกลุ่มนี้ หากไม่ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศผู้ผลิตพลังงาน เนื่องจากปัจจุบัน สภาพยุโรปยังไม่มีการกำหนดราคาตลาดที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม มีเพียงแค่การตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น ซึ่งประเทศส่งออกพลังงานไฮโดรเจนส่วนใหญ่จะเป็นประเทศกําลังพัฒนา จึงต้องมีการกำหนดมาตรฐานและระเบียบที่ชัดเจน เพื่อการพัฒนาการค้าไฮโดรเจนที่เข็มแข็ง ยุติธรรม และยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงสร้างความมั่นคงทางพลังงานในยุโรปแต่ยังสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจทั่วโลกด้วย
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์