เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้จัดการสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “Fostering Climate Action through International Investment Agreements” เพื่อหารือแนวทางการใช้ความตกลงด้านการลงทุน
ระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate action)
ในบริบทระหว่างประเทศ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และประชาชนที่สนใจ
โดยมีนางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา
และผู้เชี่ยวชาญจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)
และการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐ
ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ของไทยและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้นกว่า 100 คน
การสัมมนาครั้งนี้นับเป็น “การเริ่มบทสนทนา” ครั้งแรกเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment Agreement: IIA) เพื่อผลักดันเป้าหมายด้านเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะอื่น ๆ ในห้วงเวลาที่ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นวาระสำคัญทั้งของรัฐบาลและระดับโลก อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายของไทยในการบรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และ Net Zero ภายในปี 2608 การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากผู้แทนของ UNCTAD และ OECD จึงเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อน climate action และการลงทุนอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบของไทย
ในการอภิปราย ผู้แทน UNCTAD เน้นย้ำเรื่องการใช้ความตกลงว่าด้วยการลงทุนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินการ
เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมายด้าน climate action โดยรัฐต่าง ๆ สามารถเเก้ไขเนื้อหาของ
ความตกลงเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุนในพลังงานที่ยั่งยืน (sustainable energy investment)
สนับสนุนการโอนถ่ายเทคโนโลยีสีเขียว สร้างพื้นที่ให้รัฐในการออกมาตรการเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ซึ่งรวมถึงมาตรการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมหน้าที่ของนักลงทุนในการดำเนินธุรกิจ
อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม
ขณะที่ผู้แทน OECD ย้ำความจำเป็นของการสอดประสานระหว่างความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศ
กับความตกลงปารีสซึ่งกำหนดให้รัฐภาคีต้องส่งเสริมเงินทุนที่สอดคล้องกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซ
และการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากความตกลงฯ เป็นกลไกสำคัญที่จะดึงดูดเงินทุน (finance flows)
ไปสู่สาขาที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยอาจแบ่งประเภทการลงทุนเป็นการลงทุนสีเขียว
(low-carbon) และสีน้ำตาล (high-carbon) เพื่อกำหนดให้แต่ละประเภทได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน
ภายใต้ความตกลงฯ โดยในอนาคต รัฐภาคีอาจพิจารณาตัดการลงทุนที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมออกจากขอบเขต
ของความตกลงฯ นอกจากนี้ รัฐภาคีอาจใช้ความตกลงฯ เพื่อการเปิดเสรีการลงทุนในสาขาที่จะสนับสนุน climate action เช่น พลังงานสะอาดหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
เอกอัครราชทูตวิลาวรรณฯ ได้กล่าวถึงข้อพิพาทระหว่างประเทศจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการลงทุนที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไทยเองก็ได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อขับเคลื่อน climate action อาทิ การตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
การเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการทบทวนกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
ขณะที่ความตกลงฯ ฉบับมาตรฐาน (BIT Model 2020) ของไทยก็ได้มีข้อบทที่เพิ่มพื้นที่เชิงนโยบายสำหรับการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายบางประการในการปรับปรุงความตกลงฯ โดยเฉพาะข้อกำจัดด้านงบประมาณและทรัพยากรบุคคล รวมถึงแนวทางการเจรจาว่าควรเลือกเจรจาใหม่ หรือปรับปรุงความตกลงฯ ที่มีอยู่เดิมก่อน
โดยเอกอัครราชทูตวิลาวรรณฯ เห็นว่า ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้คือการเจรจาความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศในระดับพหุภาคี (Multilateral Investment Treaty) ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยกำลังผลักดันในกรอบคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ILC) รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐในการสู้คดีในข้อพิพาท
ด้านการลงทุน ซึ่งไทยมีบทบาทนำในการสนับสนุนการจัดตั้ง Advisory Center on International Investment Dispute Resolution ภายใต้คณะทำงาน 3 ของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (UNCITRAL)
ทั้งนี้ สามารถดูเอกสารการสัมมนาเพิ่มเติมได้ ที่นี่