เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2562 เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่นาย Jan Ameri ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรม และ นาย Dmitri Sarle ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Arctic 15 ซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจเริ่มต้น (Startups) ของฟินแลนด์ และนาย Juha Ritvala นักธุรกิจฟินแลนด์ ซึ่งเป็นกลุ่ม Friends of Thailand เพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับฟินแลนด์ โดยสรุปได้ ดังนี้
[su_spacer]
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 นาย Ameri และ นาย Sarle ได้พบหารือกับนายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการจัดกิจกรรมส่งเสริม startup สาขาดิจิทัล (digital startups) ที่ประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีสําหรับความร่วมมือกันในการส่งเสริม startups
[su_spacer]
ประเทศไทยให้ความสําคัญกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและการบริการ และการส่งเสริม Startups รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริม Startups ตลอดจนการปรับปรุง ecosystem ของประเทศไทยให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ Startups ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ได้จัดกิจกรรมส่งเสริม startups ในประเทศไทย โดยเฉพาะ Digital Thailand Big Bang การจัดกิจกรรมส่งเสริม digital startups ของบริษัท Arctic 15 นี้ จะทําให้นักลงทุนและผู้ประกอบการ startups ในเครือข่ายของ Arctic 15 ไปร่วมกิจกรรมที่ไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนอิสระ (angle investor)
[su_spacer]
ปัจจุบัน มีบริษัทฟินแลนด์ทําธุรกิจในไทยหลายบริษัท แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งสำนักงานขาย หรือศูนย์บริการหลังการขายในไทย มีเพียงบริษัท Huhtamaki ที่มีโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ 2 แห่งในไทย ส่วนบริษัท Valmet ซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมกระดาษขนาดใหญ่ของฟินแลนด์ มีบริษัทตัวแทนและศูนย์บริการหลังการขายในไทย และร่วมมือกับเครือซีเมนต์ไทย (SCG) ทําธุรกิจกระดาษในเมียนมา ดังนั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ จะจัดการเสวนาการค้าและการลงทุนในประเทศไทย เรื่อง “Opportunities for Trade and Investment in Thailand” ในวันที่ 25 กันยายน 2562 เวลา 09.00 – 12.00 น. ที่กรุงเฮลซิงกิ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับฟินเเสนด์
[su_spacer]
ภายในงานเสวนาดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตฯ จะเชิญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ ณ กรุงสตอกโฮล์ม และ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน เป็นวิทยากรร่วมกับเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ บรรยายเกี่ยวกับโอกาสทางการค้าและการลงทุนในประเทศไทย เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่นักลงทุนต่างชาติจะได้รับหากเข้าไปลงทุนและทําธุรกิจในไทย โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการเข้าสู่ตลาดอาเซียน
[su_spacer]
นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะเชิญนักลงทุนและนักธุรกิจฟินแลนด์ โดยเฉพาะสาขาที่ต้องการส่งเสริมให้มีการลงทุนใน EEC และเป็นสาขาที่ฟินแลนด์มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เข้าร่วมการเสวนาฯ ดังกล่าว จํานวนไม่เกิน 40 คน และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการเสวนาฯ สอบถามข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากร
[su_spacer]
ปัจจุบัน การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับฟินแลนด์มีลักษณะเป็นการค้าแบบดั้งเดิม โดยฝ่ายฟินแลนด์มุ่งจะขายสินค้าและบริการให้แก่ประเทศไทยเท่านั้น อย่างไรก็ดี การส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับฟินแลนด์ควรเป็นการค้าสองทาง หรือการลงทุนในไทย ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย และมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างกัน โดยอาจเป็นรูปแบบที่นักธุรกิจฟินแสนด์และนักธุรกิจไทยร่วมกันเปิดบริษัทในไทย เพื่อทําธุรกิจร่วมกัน ซึ่งจะทําให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีระหว่างกันภายในองค์กร ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ เคยหารือกับนักธุรกิจชั้นนําของฟินแลนด์ และเสนอให้นักธุรกิจฟินแลนด์ร่วมกับนักธุรกิจไทย ร่วมกันเปิดบริษัททําธุรกิจในไทย แต่นักธุรกิจฟินแลนด์ส่วนใหญ่ต้องการจะเปิดบริษัทในไทย โดยตนเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว
[su_spacer]
เอกอัครราชทูตฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีบริษัทการแพทย์ไทย (บริษัท เฮลธ์แคร์ เอ็กซ์เปิร์ท จำกัด) ได้ติดต่อบริษัทการแพทย์ฟินแลนด์ (บริษัทHealth Invest Finland oy) ที่เป็นผู้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งใช้ติดตามและประเมินผลผู้ป่วยและผู้สูงอายุผ่านสายรัดข้อมืออัจฉริยะ เพื่อหาแนวทางในการร่วมกันทําธุรกิจนี้สําหรับลูกค้ากลุ่ม high end ในประเทศไทย
[su_spacer]
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้สนทนากับ CEO ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และทราบว่า บริษัทฯ มีความสนใจเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและพลังงานชีวภาพของฟินแลนด์ แต่เอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า การผลิตพลังงานชีวภาพของไทยกับฟินแลนด์มีความแตกต่างกัน เนื่องจากฝ่ายไทยจะเน้นการผลิตพลังงานจากขยะเปียก แต่ฟินแลนด์จะเน้นการผลิตพลังงานจากเศษไม้สน อย่างไรก็ดี มีนักธุรกิจไทยแสดงความสนใจเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทางเลือกของบริษัท Chempolis เมือง Oulu โดยเฉพาะการผลิต ethanol จากชานอ้อย Bagasse
[su_spacer]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ